วันพฤหัสบดี, 26 ธันวาคม 2567

(คลิป) ชลประทานเชียงใหม่ โชว์ฝายพับได้แห่งแรกของประเทศ แก้ภัยแล้งและน้ำท่วม

Social Share

 

ชลประทานเชียงใหม่โชว์ฝายพับได้แห่งแรกของประเทศ เตรียมขยายผลส่งมอบองค์ความรู้ให้ทั่วประเทศ แก้ภัยแล้งและน้ำท่วม

17 มิ.ย. 63 : นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมคณะ ให้การต้อนรับคณะผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพื่อให้ข้อมูลอ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวงและประสิทธิภาพการใช้งานของฝายพับได้ตัวแรกของประเทศไทย ที่อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง ต.ดอยแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวงกรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างตามพระราชดำริ โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2521 แล้วเสร็จและเก็บกับน้ำได้ในปี 2522 ความจุแรกจากการออกแบบประมาณ 1.1 ล้าน ลบ.ม. สำหรับฝายพับได้สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำให้เพิ่มได้มากยิ่งขึ้น จากเดิมความจุอยู่ที่ 1.1 ล้าน ลบ.ม. เมื่อสร้างฝายพับได้เข้ามาเสริมสามารถเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำได้อีกราว 1.3 แสน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นราว 10 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง

วิธีการก่อสร้างฝายพับได้ของอ่างแม่จอกหลวง เป็นความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานและมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อเพิ่มความจุให้อ่างเก็บน้ำนั้นมีหลายวิธี อย่างเช่นการสร้างฝายยาง การขุดลอกอ่าง หรือการเสริมด้วยฝายพับได้ ล้วนเป็นการเสริมประสิทธิภาพความจุให้แก่อ่างเก็บน้ำที่มีอยู่แล้ว การเสริมด้วยฝายพับได้นี้ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กได้ทั่วประเทศ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเทคนิค ระดับธรณีวิทยา ภูมิประเทศของอ่างที่จะสร้าง โดยพิจารณาสปริงเวย์ของอ่างนั้นๆ ว่าต้องมีการก่อสร้างเพิ่มเติมมากน้อยเพียงใด อันจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับตัวอ่างที่ออกแบบไว้ด้วยว่าระดับความปลอดภัยอ่างอยู่ที่ระดับที่เหมาะสมและการไหลของน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำที่ต้องมีในปริมาณที่เพียงพอเหมาะสม รวมถึงความจุของน้ำที่เพิ่มขึ้นด้วย

ด้าน นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สืบเนื่องจากมีความต้องการใช้น้ำจากอ่างแม่จอกหลวงเพิ่มมากขึ้น เพราะอ่างแม่จอกหลวงมีภาระที่ต้องให้การสนับสนุนหน่วยงานราชการมากมาย อาทิ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสถานีประปาอุโมงค์ของ กปภ.เชียงใหม่ นอกจากนี้มีปริมาณน้ำล้นอ่างเกือบทุกปี อ่างเก็บน้ำมี Free board สูงเพียงพอ มีพื้นที่รับน้ำฝนไม่ใหญ่มาก มีอาคารระบายน้ำล้นมีความเหมาะสม และได้รับการสนับสนุนจากกรมชลประทาน จึงได้สร้างฝายพับได้ที่อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ในส่วนที่เสริมความสูงสันอาคารระบายน้ำล้นได้ 150,000 ลบ.ม. ซึ่งได้สร้างตัวบานฝายที่ความสูง 1.30 เมตร อีกทั้งยังเป็นทางเลือกในการใช้อาคาร เพื่อเพิ่มศักยภาพของอ่างเก็บน้ำในอนาคต

สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้นั้นไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน สามารถนำไปใช้กับโครงการขนาดเล็กได้ทั่วประเทศ ตัวไฮดรอลิกก็ใช้ไฮดรอลิกตัวบนของแขนรถแบ็คโฮ เทคโนโลยีที่ใช้ในการก่อสร้างเรียบง่าย แต่ผลที่ได้รับคุ้มค่าอย่างมาก อาจจะเปรียบได้ว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 1 ตัว ต้องใช้เงิน 100 บาท ได้น้ำ 100 ลิตร หากว่าสร้างฝายพับได้เพิ่มโดยใช้เงิน 1 บาท แต่ได้น้ำ 10 ลิตร เรียกว่าถูกว่าเดิม 10 เท่า และเห็นได้ชัดเจนยิ่งว่าคุ้มค่ามากกว่า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิค ธรณีวิทยา ค่าก่อสร้างจะถูกหรือแพง แนวสันเขื่อนต้องมีการติดตั้งเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ หากมีการเสริมไม่มาก สิ่งก่อสร้างนี้ก็จะถูกลง

ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวเขื่อนที่ออกแบบไว้ด้วยว่า ตัวอ่างจะต้องมีความเหมาะสม และปริมาณน้ำที่ผ่านตัวอ่างต้องมีปริมาณที่เพียงพอที่จะกักเก็บน้ำที่เพิ่มขึ้นด้วย การทำงานก็จะใช้ระบบไฮโดริค ในการพับหรือยกตัวฝาย หากเป็นการทำงานปกติไม่มีฝายพับได้ ปีไหนที่น้ำเยอะ น้ำส่วนเกินก็จะไหลล้นผ่านตัวฝายไป แล้วเกิดน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน พื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่การเกษตร และตามเส้นทางการจราจร ไม่สามารถที่จะเก็บกักน้ำได้ แต่เมื่อมีการสร้างฝายพับได้ ก็สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ในปริมาณที่มากขึ้น เช่น ฝายแม่จอกหลวงแห่งนี้ มีความจุอ่างประมาณ 1.1 ล้าน ลบ.ม. เมื่อสร้างฝายพับได้ และยกปานพับขึ้นจากท้องอ่างเดิมให้มีความสูง 80 เซนติเมตร ก็มีน้ำเพิ่มขึ้นมาอีก 1.3 แสน เป็น 1.23 ล้าน ลบ.ม. ส่วนงบประมาณที่ใช้ก่อสร้างฝายพับได้แห่นี้ใช้ประมาณ 1,150,000 บาท ถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก และเมื่อน้ำที่มากเกินกว่าตัวฝาย ก็จะไหลผ่าน แล้วไม่ท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ บ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตร และยังมีน้ำสำรองไว้ใช้ได้มากขึ้น ที่สำคัญวัสดุที่ใช้ในการสร้างฝายพับได้แห่งนี้ ยังใช้วัสดุภายในประเทศที่หาได้ง่าย การดูแลรักษาไม่ยาก และฝายพับได้แห่งนี้ยังเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการสร้างขึ้น โดยงบประมาณที่ใช้ประมาณ 1,150,000 บาท และปัจจุบันได้ขยายผลนำไปนำไปทดสอบจริงที่ฝายกั้นน้ำในลำน้ำเรียบร้อยแล้ว

rbt