วันศุกร์, 11 เมษายน 2568

(มีคลิป) จังหวัดพะเยา ร่วมกับ วัดศรีโคมคำ ททท. เปิดงาน “เย็นทั่วหล้าสงกรานต์ตานตุง ไหว้สาพระเจ้าตนหลวง”

Social Share

จังหวัดพะเยา ร่วมกับ วัดศรีโคมคำ ททท. เปิดงาน “เย็นทั่วหล้าสงกรานต์ตานตุง ไหว้สาพระเจ้าตนหลวง”

วันที่ 5 เม.ย. 68 ที่วัดศรีโคมคำพระอรามหลวง อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา จังหวัดพะเยา ร่วมกับ วัดศรีโคมคำ พระอารามหลวง ททท.สำนักงานเชียงราย ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยว จ.พะเยา เปิดงาน “ เย็นทั่วหล้า สงกรานต์ตานตุง ไหว้สาพระเจ้าตนหลวง” ด้วยการก่อเจดีย์ทราย สุดส้าว สูงประมาณ 5 เมตร ไว้ที่บริเวณลานด้านหน้าวิหารพระเจ้าตนหลวง เพื่อให้ประชาชนชาวพะเยาและนักท่องเที่ยวได้ร่วมกิจกรรมปักตุงเป็นพุทธบูชา ประเพณีปี๋ใหม่เมือง โดยมี นายบำรุง สังข์ขาว รอง ผวจ.พะเยา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ททท.ผู้อำนวยการ ภูมิภาคภาคเหนือ และหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดผู้มีจิตศรัทธา เข้าร่วมพิธี

โดยก่อนประกอบพิธี “สงกรานต์ตานตุง ไหว้สาพระเจ้าตนหลวง” นายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นำผู้มีจิตศรัทธา “สร้างบุญชีวิต พิชิตภัยร้าย ตักบาตรทำบุญ สร้างทุนชีวิต พลิกร้ายกลายเป็นดี” ซึ่งเป็นกิจกรรมของวัดศรีโคมคำ พระอารามหลวง ทุวันเสาร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 07.00 น.โดยพระราชปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดพะเยา เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ จะนำพระสงฆ์เดินออกจากวิหารหลวง มารับบาตรพุทธบริษัทที่นำเครื่องอุปโภค-บริโภค มาถวาย เป็นการปลูกต้นไม้แห่งบุญให้ร่มเย็นแก่ชีวิต และนำรดน้ำดำหัว ขอพรพระเจ้าตนหลวงจำลอง ตามประเพณีอันดีงาม

จากนั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยคณะผู้ร่วมพิธีได้ตั้งขบวนตุงนอกกำแพงวัดด้านหน้า ริมถนนพหลโยธิน ถือเครื่องสักการะ ตุงไชย ตุงใส้หมู ตุงนักษัตร เดินขบวนผ่านประตูโขงหน้าวัดเข้าไปในพระวิหารหลวง ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายตุงพระเจ้าตนหลวง โดยพระราชประยัติ เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ พระอารามหลวง นำพระสงฆ์ 9 รูปเจริญพระพุทธมนต์

“ตุง” เป็นสัญลักษณ์แห่งความศรัทธาของชาวล้านนา ที่มีความเชื่อว่าการถวายตุงหรือทานตุง จะได้รับผลบุญและอานิสงส์ เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข เป็นการสร้างกุศลให้แก่ตนเอง ใช้ในการสะเดาะเคราะห์ขจัดภัยพิบัติต่างๆ ให้หมดไป และเป็นการสักการะแผ่กุศลไปยังผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว “ตุง” ยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล นิยมถวายเป็นพุทธบูชาประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณี งานเทศกาล หรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ เช่น “ตุงไชย” สัญลักษณ์แห่งความมีชัยและเฉลิมชัยชนะ “ตุงใส้หมู” ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาในประเพณี “ปี๋ใหม่เมือง” หรือ สงกรานต์ “ตุงนักษัตร” หรือตุง ๑๒ ราศี ชาวล้านนาเชื่อว่าการปักตุงปีนักษัตรจะเป็นตัวแทนของผู้ถวายตุงจะช่วยให้พ้นเคราะห์

หลังเสร็จพิธีเจริญพระพุทธมนต์ คณะผู้ร่วมพิธีได้เดินถือตุงออกมาจากวิหารหลวงกลับมายังบริเวณเจดีย์ทราย สุดส้าว (สุดส้าว เป็นคำเมือง หมายถึงสุดไม้ส้าว ไม้สอยสิ่งของต่างๆ) จากนั้นพิธีกรได้นิมนต์พระราชปริยัติ ขึ้นบันใดเจดีย์ทราย สุดส้าว ไปปักตุงไชย ตามด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และหัวหน้าส่วนราชการ

ในการนี้ พระราชปริยัติ ได้มอบวัติถุงมงคลแก่ผู้มาร่วมพิธีทุกคน นำไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้คณะผู้จัดงาน ยังได้จำลองเจดีย์ทราย ตามปีนักษัตร ตั้งแต่ ปีชวด, ฉลู, ขาล, เถาะ, มะโรง, มะเส็ง, ไว้ที่ริมกำแพงวิหารด้านขวามือ และปีนักษัตร ตั้งแต่ปีมะเมีย, มะแม, วอก, ระกา, จอ, กุล, ด้านซ้ายมือ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธบริษัทที่มาทำบุญช่วงเทศกาลสงกรานต์ “ปี๋ใหม่เมืองล้านนา” ถวายตุงเป็นพุทธบูชาตามปีเกิด

Cr. สุรพล ลัดลอย พะเยา