22 พ.ค. 63 : นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.) เปิดเผยว่า สถาบันฯ มุ่งพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมีความสุข โดยมีภารกิจหลักคือ การสนับสนุนและรักษาซึ่งพันธกิจของโครงการหลวงในการวิจัยและพัฒนา เผยแพร่และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน สืบสาน รักษา และต่อยอดงานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อน จึงส่งผลให้เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ ซึ่งเกษตรบนพื้นที่สูงต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทางสถาบันจึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อแก้วิกฤติภัยแล้งบนพื้นที่สูง โดย นายอานนท์ ยอดญาติไทย นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา และ นางสาวอาทิตยา สุตา นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ของสถาบันฯ ได้เรียบเรียงและจัดทำข้อมูล พบว่า ในปี 2563 ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยต้องเผชิญฝนแล้งยาวนานจนถึงเดือนมิถุนายน อย่างที่ทราบกันดีกว่าพื้นที่ทำการเกษตรโดยส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทานกว่าร้อยละ 87
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีพื้นที่ดำเนินงาน ครอบคลุมพื้นที่สูงกว่า 5 ล้านไร่ ประชากรกว่า 250,000 คน ส่วนใหญ่เกษตรกรมีฐานะค่อนข้างยากจน ขาดโอกาส และปัจจัยขั้นพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และเพื่อทำการเกษตร ไม่สามารถเพาะปลูกพืชสร้างรายได้ให้เป็นไปตามแผน และผลผลิตได้รับความเสียหาย จากการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ดำเนินงานพบว่า มีเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว จำนวน 296 ชุมชน 28,725 ครัวเรือน 114,443 คน พื้นที่ 424,936 ไร่ ผลผลิตที่ส่งเสริมได้รับผลกระทบมูลค่ากว่า 9.2 ล้านบาท
สถาบันจึงจัดทำ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง” ซึ่งคณะกรรมการบริหารสถาบันเห็นชอบงบประมาณสะสมวงเงิน 10 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ในระดับชุมชน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้แผนที่ดินรายแปลงเป็นเครื่องมือในการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำให้ตรงกับความต้องการของชุมชน และถูกต้องเหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เกิดนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ในเบื้องต้นได้ทำการสำรวจพื้นที่ร่วมกับชุมชน และจัดทำแผนปฏิบัติการรายพื้นที่ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 37 แห่ง ครอบคลุม 84 ชุมชน จำนวนแหล่งน้ำ 138 แห่ง คาดว่าเกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์กว่า 5,473 คน ครอบคลุมพื้นที่ 12,709 ไร่ โดยแบ่งเป็นการจัดทำฝายต้นน้ำ จำนวน 5 แห่ง ถังเก็บน้ำและบ่อพวง จำนวน 111 จุด และระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ 124,980 เมตร นอกจากนี้ สวพส. ยังได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานเร่งบูรณาการ ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย และแผนการใช้ที่ดิน เพื่อชุมชนมีแหล่งน้ำใช้ในการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร มีโอกาสและทางเลือกในการเพาะปลูกพืชที่หลากหลาย
เรื่องมาใหม่
- AIS ผนึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจไซเบอร์เปิด “มาตรการระเบิดสะพานโจร” บุกรวบจีนเทา พร้อมเครื่องส่ง SMS ปลอม
- เชียงราย จัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบกลไกเครือข่ายทีมสหวิชาชีพด้านเด็กและเยาวชน
- (คลิป) ตำรวจแม่จัน เชียงราย จับสึกพระเมาเหล้าขอปัจจัย
- เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน อนุโมทนา “ปิดเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยกองมู ( ลอยกระทงสวรรค์) ประจำปี 2567”
- “น้องโบว์ลิ่ง” คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดหนูน้อยนพมาศเมืองยวมใต้ ประจำปี 2567