15 มกราคม 2563 : นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ที่สำนักงานโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จฯ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสะแพดตอนบน อ.จอมทอง อ.เชียงใหม่ ซึ่งการเดินทางมาติดตามโครงการครั้งนี้เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงอ่างเก็บน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง
นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีแหล่งเก็บกักน้ำที่ก่อสร้างมานานถึง 36 ปี โครงการฯ ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำ 22 แห่ง บ่อบาดาล 42 บ่อ สระเก็บน้ำ 24 แห่ง ประตูระบายน้ำ 4 แห่ง และสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำปิงอีก 8 แห่ง สามารถสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมได้ 2 จังหวัด 3 อำเภอ 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.บ้านโฮ่ง ต.หนองปลาสวาย อ.บ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ต.บ้านแปะ ต.แม่สอย อ.จอมทอง และ ต.บ้านตาล อ.ฮอด จังหวัดเชียงใหม่
สภาพโดยรวมในปัจจุบันอ่างเก็บน้ำชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก บางแห่งมีปัญหาการรั่วซึมจึงไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ บางแห่งตัวอ่างมีลักษณะตั้งฉากกับแนวฝนในพื้นที่ทำให้ไม่สามารถเก็บน้ำได้เต็มความจุ รวมถึงหัวงานบางแห่งไม่มีอาคารประกอบและระบบส่งน้ำเดิมที่ใช้อยู่เกิดการชำรุดและใช้งานได้ไม่ดี ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความจุอ่างที่มีอยู่ ส่งผลให้ในพื้นที่ทั้ง 4 ตำบล ประสบปัญหาภัยแล้งเกือบทุกปี
กรมชลประทานเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ จึงได้นำแนวทางของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่แต่เดิมเคยเป็นป่าเต็งรังที่เสื่อมโทรมมาก่อน และมีการพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนทำให้ป่าที่เสื่อมโทรมกลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์ และเป็นศูนย์ศึกษาพัฒนห้วยฮ่องไคร้ฯ ในปัจจุบัน เมื่อได้พิจารณาและหาแนวทางการปรับปรุงแล้ว จึงได้มอบหมายให้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โพธิศิรินทร์ ไทยคอนซัลแต๊นท์ จำกัด และ บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด ทำการศึกษาหาแนวทางปรับปรุงเพื่อให้สามารถใช้งานได้ดังเดิม
โดยการจัดทำแผนแม่บทการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำในภาพรวมทั้งหมด และจะคัดเลือกโครงการมาทำการศึกษาความเหมาะสมจำนวน 1 โครงการ เพื่อนำไปดำเนินการให้เกิดผลโดยเร็ว โดยการศึกษาครั้งนี้จะจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทุกขั้นตอน จำนวน 4 ครั้ง เพื่อให้ได้แผนการปรับปรุงที่เหมาะสมทั้งด้านวิชาการและเป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยกรมชลประทานและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง ต่อมาได้มีการจัดทำแผนแม่บทตามโครงการฯ นี้ มีกรอบเวลาในการทำงานรวม 540 วัน
โดยทำการศึกษาและจัดทำแผนหลักการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ศึกษาและจัดทำรายงานความเหมาะสม และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กระบวนการทั้งหมดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 63 นี้ โดยกรอบงบประมาณที่คาดการณ์ไว้สำหรับการปรับปรุงนั้น ประมาณ 166 ล้านลาท ซึ่งจะเป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่ทั้งโครงการเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เป็นไปตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน สามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำได้
ผลจากการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ แต่เดิมมีความยาวสันเขื่อน 173 เมตร จะปรับปรุงเป็น 226 เมตร ความสูงของเขื่อน 13 เมตร ปรับเป็น 33 เมตร ความกว้างสันเขื่อนยังคงเท่าเดิม ระดับน้ำเก็บกักได้ 3.6 แสน ลบ.ม. ปรับปรุงใหม่ จะสามารถเก็บกักน้ำได้ 1.76 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มมาประมาณ 1.4 ล้าน ลบ.ม. เมื่อปรับปรุงเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้ประมาณ 15,000 ไร่ ซึ่งตรงนี้จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่อย่างเช่นที่ประสบอยู่ในปีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
เรื่องมาใหม่
- AIS ผนึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจไซเบอร์เปิด “มาตรการระเบิดสะพานโจร” บุกรวบจีนเทา พร้อมเครื่องส่ง SMS ปลอม
- เชียงราย จัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบกลไกเครือข่ายทีมสหวิชาชีพด้านเด็กและเยาวชน
- (คลิป) ตำรวจแม่จัน เชียงราย จับสึกพระเมาเหล้าขอปัจจัย
- เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน อนุโมทนา “ปิดเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยกองมู ( ลอยกระทงสวรรค์) ประจำปี 2567”
- “น้องโบว์ลิ่ง” คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดหนูน้อยนพมาศเมืองยวมใต้ ประจำปี 2567