วันพฤหัสบดี, 26 ธันวาคม 2567

(คลิป) ชลประทานเชียงใหม่ วอนงดปลูกข้าวนาปีช่วงนี้ กำหนดให้ปลูกพร้อมกัน 15 ก.ค.นี้

Social Share

ชลประทานเชียงใหม่ ประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำ วอนงดปลูกข้าวนาปีช่วงนี้ กำหนดให้ปลูกพร้อมกัน 15 ก.ค. ป้องกันไม่ให้ต้นข้าวขาดน้ำตาย

11 มิ.ย. 63 : นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วย นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ได้ประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง และฤดูฝน รวมถึงการปล่อยน้ำเพื่อปลูกข้าวนาปีที่จะเริ่มขึ้น เพื่อให้น้ำเพียงพอและไม่กระทำในด้านอุปโภค บริโภค และไม่เกิดปัญหาการแย่งน้ำจากการเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวนาปีที่จะมาถึง ซึ่งผลการประชุมใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก็ได้ข้อสรุป

นายสุดชาย กล่าวภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้น้ำในเขื่อนมีน้อย ก็ได้มีการร้องขอให้เกษตรกรงดทำนาปีในช่วงนี้ เพราะหากทำไปก็จะไม่มีฝน ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ที่เตรียมน้ำไว้ ที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งจะมีการส่งน้ำให้เกษตรกรแบ่งเป็นรอบเวร เพื่อให้การส่งน้ำแก้ปัญหาภัยแล้งในปี 2563 ผ่านไปด้วยดี และในส่วนด้านท้ายของเขื่อนแม่กวงอุดมธาราที่มีน้ำอยู่ 37 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ก็จะส่งน้ำให้ในช่วงของฝนทิ้งช่วงเดือน ก.ค. เช่นกัน ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ว่าจะมีการปลูกพร้อมกันในวันที่ 15 ก.ค.เป็นต้นไป และการเข้าสู่ช่วงฤดูฝน โดยช่วงนั้นจะเป็นช่วงฝน โดยพื้นที่ของเขื่อนแม่กวงมีการปลูก 120,000 ไร่ และเขื่อนแม่งัด 70,000 ไร่ รวมแล้ว 190,000 ไร่

ต้นทุนน้ำเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งทุกปีจะมีการปลูกข้าวนาปีประมาณ 3 แสนไร่ รวมทั้งหมดขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก และในห้วงฝนทิ้งช่วง ก็จะนำส่งน้ำสำรองส่งไปตามรอบเวร เพื่อพยุงต้นกล้าให้อยู่รอดได้ เมื่อมีฝนเข้ามาก็จะทำให้ข้าวนาปีอยู่รอดได้ที่สำคัญนั้นน้ำในปี 62 ที่ผ่านมาเก็บกักได้น้อย เพราะฝนน้อย แต่น้ำที่มีอยู่ก็ยังมาก ซึ่งทุกเดือนจะต้องเตรียมน้ำไว้สำหรับการอุปโภค บริโภคประมาณ 1 ล้าน ลูกบาศก์เมตร โดยน้ำที่จะนำมาใช้ในเรื่องนี้ต้องไม่ขาดแคลน เพราะถือเป็นหัวใจหลักในการบริหารจัดการน้ำ

ด้านการจัดการน้ำในฤดูฝน ตัวเมืองเชียงใหม่ หากเกิดน้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ เจอน้ำโจมตีทั้งหมด 3 ด้าน ด้านบนมาจากน้ำปิงที่มาจากอำเภอเชียงดาว และน้ำแม่แตงรวมกันเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ ถ้าเกิน 450 ลูกบาศก์เมตร จะท่วมขังทันที ด้านฝั่งตะวันตกคือน้ำที่ไหลมาจากดอยสุเทพทั้งหมด ก็จะเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ ทางสำนักงานชลประทานที่ 1 ก็ได้ไปตรวจเช็คประตูระบายน้ำตามจุดต่างๆ แล้ว ก็มีการเตรียมความพร้อมรับมือไว้แล้ว ส่วนลำน้ำแม่ออนที่มีผลต่อตัวอำเภอสันกำแพง ตรงจุดนี้จะมีปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ตัวลำน้ำแม่ออน เคยมีน้ำสูงสุด 42 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ลำน้ำที่ผ่านตัวอำเภอสันกำแพง รับได้เพียง 26 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทางกรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ได้ทำอาคารตัดตอน ตัดน้ำที่จะเข้าตัวอำเภอสันกำแพง โดยตัดที่ฝายกู่เบี้ย ตัดออก 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และฝายห้วยลึกตัดออก 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งน้ำที่จะไหลผ่านตัวอำเภอสันกำแพงได้ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และลำน้ำแม่ออนรับได้ 26 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา กล่าวว่า เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีความจุเขื่อนที่ระดับเก็บกัก 263 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 170,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่และลำพูน 5 อำเภอ คือ อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จำนวน 33 ตำบล สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีเฉลี่ยปีละ 120,000 ไร่ นาปรังเฉลี่ยปีละ 25,000 ไร่ ไม้ผล 25,000 ไร่ และส่งน้ำให้กับการประปาส่วนภูมิภาคเชียงใหม่ปีละ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดการชลประทาน ซึ่งปัจจุบันมี นายวิบูลย์ชัย สรณ์สิริพีรวัฒน์ เป็นประธาน JMC ในส่วนของคณะกรรมการ JMC 4 ประสาน ประกอบด้วย องค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

โดยมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2563 เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้น้ำตลอดฤดูฝน ปี 2563 และเก็บกักไว้ใช้ฤดูแล้วปี 63/64 กรมชลประทานจึงกำหนดมาตราการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน ปี 2563 ไว้ 5 มาตรการ ดังนี้ 1. จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี 2. ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัด ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น 3. บริหารจัดการน้ำท่า ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบและอาคารชลประทาน 4. กักเก็บน้ำในเขื่อน ให้มากมี่สุดไม่ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บน้ำต่ำสุด ตามช่วงเวลาเพื่อความมั่นคงด้านการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ และ 5. วางแผนป้องกัน และบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ด้วย 3 หลักการ คือ กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดคนรับผิดชอบชัดเจน และเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อม

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี พ.ศ.2563 ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา มีการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝน ร่วมกับคณะกรรมการจัดการชลประทาน ซึ่งได้มีการวางแผนเพาะปลูกพืช นาปี พืชไร่พืชผัก พืชสวน จำนวน 148,400 ไร่ โดยมีแผนการส่งน้ำในช่วงฤดูฝนจำนวน 8 รอบเวรการส่งน้ำ จะเริ่มส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 253 สิ้นสุดวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 รวมปริมาณ 65 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ได้กำหนดเรื่องของการปลูกข้าวนาปีไว้ แม้ว่าปีนี้จะเริ่มช้ากว่าปีที่ผ่านมา แต่เพื่อให้ใช้น้ำได้อย่างเพียงพอและไม่ได้รับผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งผลการประชุมมีมติเห็นร่วมกันว่า จะปลูกข้าวนาปีพร้อมกันในวันที่ 15 ก.ค. จะไม่มีใครปลูกก่อน หากมีการดำเนินการก่อนจะเป็นความเสี่ยงในด้านการปลูกเพราะน้ำจะไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร ซึ่งทางกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ในอนาคต หากโครงการเพิ่มปริมาณในเขื่อนแม่กวงอุดมธาราแล้วเสร็จ สามารถผันน้ำจากน้ำแม่แตงและเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมายังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จำนวน 165 ล้าน ลูกบาศก์เมตร จะทำให้เขื่อนแม่กวงอุดมธารามีปริมาณน้ำเต็มความจุของเขื่อนในทุกปี หากมีการประเมินปริมาณน้ำใน 1 ลูกบาศก์เมตร จะสามารถสร้างคุณค่าให้แก่การเกษตรได้มูลค่าประมาณ 7 บาท/ลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศษฐกิจได้ ประมาณ 1,840 ล้านบาท ต่อปี