วันเสาร์, 28 ธันวาคม 2567

สำนักงานชลประทานที่ 1 ร่วมประชุมการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 63 ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ

Social Share

10 มิถุนายน 2563  : ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะผู้บริหารกรมชลประทาน ลงพื้นที่ ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน จังหวัดพิษณุโลก โดยมีนายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้รับฟังบรรยายสรุปการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝน ปี 2563 และแผนบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ จาก ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมทั้ง รับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำและมาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัยในด้านการกำหนดพื้นที่ การกำหนดคน และการกำหนดทรัพยากรของสำนักงานชลประทานที่ 1 – 4 และสำนักเครื่องจักรกล ในการนี้ นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา นายสมคิด สะเภาคำ ผู้อำนวยการศูนย์อุทกวิทยาชลประทานภาคเหนือตอนบน พร้อมด้วยนายปราณด์ จรมาศ หัวหน้าฝ่ายประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 รายงานการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาอุทกภัยปี 2563 ของสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ดำเนินการใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การจัดตั้งศูนย์ประมวลและติดตามสถานการณ์น้ำ (ระดับสำนักงานชลประทาน/โครงการ/จังหวัด) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ กรณีที่เกิดอุทกภัยในเขตพื้นที่รับผิดชอบจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน 2) การลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสภาพอาคารและความพร้อมใช้งานของอาคารชลประทานทั้ง 77 แห่ง รวมถึงในพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยตามแนวแม่น้ำปิง พื้นที่ฝั่งตะวันตกเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่ฝั่งตะวันออกเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทุกแห่งอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน 100% พร้อมทั้งดำเนินการติดป้ายประชาสัมพันธ์เรียบร้อยแล้ว 3) การกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในเขตสำนักงานชลประทานที่ 1 จำนวนทั้งสิ้นกว่า 18,295 ตัน และ 4) การจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยปี 2563 โดยมีเครื่องสูบน้ำ จำนวน 74 เครื่อง เครื่องจักร-เครื่องมือ อาทิ รถขุด รถบรรทุกน้ำ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่น ๆ จำนวน 61 หน่วย กระจายอยู่ตามโครงการต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติงานกรณีเกิดเหตุอุทกภัยในแต่ละพื้นที่

โดยรองอธิบดีกรมชลประทาน ได้รายงานผลการติดตามการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมความพร้อมสถานการณ์น้ำหลากฤดูฝนในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 3 โดยได้นำแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563 และแนวทาง RID No.1 Express มาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังได้มอบแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563 ประกอบด้วย 8 ประเด็น ได้แก่

  1. มีการทำงานแบบ “เข้าถึง เข้าพบ เข้าแก้” ในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อสอบถามและเร่งแก้ไขปัญหา
  2. การสร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน และอาสาสมัครชลประทานเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่
  3. การกำจัดวัชพืชและผักตบชวา ให้มีการติดป้ายประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนถึงแผนการดำเนินงานในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะด้านหน้าอาคารชลประทาน เพื่อไม่ให้ขวางทางน้ำในกรณีเกิดน้ำหลาก
  4. หากมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต้องให้ความช่วยเหลือทันที หากไม่มีเครื่องจักรเครื่องมือให้ประสานกับสำนักเครื่องจักรกลต่อไป
  5. การมอบอำนาจหน้าที่ให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานชลประทาน ให้พิจารณาตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติงาน
  6. การประชุมระดับจังหวัดหรือโครงการชลประทานจังหวัดเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ให้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบเป็นลำดับชั้น
  7. การให้ข่าวประชาสัมพันธ์ต้องทันต่อเหตุการณ์ กรณีเกิด Fake News ให้โครงการชลประทานจังหวัดชี้แจงทันทีพร้อมทั้งรายงานให้สำนักงานชลประทาน/กรมชลประทานทราบเพื่อดำเนินการต่อไป
  8. ให้สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาดำเนินการตรวจสอบและจัดเตรียมหน่วยวัดเคลื่อนที่เพื่อวัดความจุปริมาณน้ำในจุดเสี่ยงของสำนักงานชลประทานที่ 1-4 ให้ถูกต้องแม่นยำ

การประชุมในครั้งนี้ได้ดำเนินการถ่ายทอดสดผ่านระบบ VDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้รับทราบนโยบายของกรมชลประทานและนำไปปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพต่อไป

เรื่องมาใหม่