วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

(มีคลิป) ศิลปากรฯ เชียงใหม่ รุดดูเจดีย์เก่าแก่ หลังดราม่าหนักจุดพลุยิ่งกว่าแสดงหนัง ชาวบ้านตกใจหวั่นทำเจดีย์โบราณล้านนาพัง

Social Share

ศิลปากรฯ เชียงใหม่ รุดดูเจดีย์เก่าแก่ หลังดราม่าหนักจุดพลุยิ่งกว่าแสดงหนัง ชาวบ้านตกใจหวั่นทำเจดีย์โบราณล้านนาพัง

วันที่ 28 พ.ย. 65 ในโลกโซเชียลได้มีการแชร์คลิปจากเฟสบุ๊คของพระลูกวัดเจดีย์เหลี่ยมรูปหนึ่ง ที่ได้โพสต์คลิปการจุดพลุอย่างยิ่งใหญ่ อลังการณ์ยิ่งกว่าการแสดงหนัง โดยพลุถูกจุดตั้งแต่บริเวณชั้นล่างขององค์พระธาตุเจดีย์เหลี่ยม จนถึงยอดพระธาตุ ซึ่งองค์พระธาตุแห่งนี้อยู่ในเขตโบราณสถานเวียงกุมกาม และมีอายุเก่าแก่ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดกระวิพากย์วิจารณ์ทั้งเคารพ กราบไหว้บูชา และกระแสดราม่า ที่เกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับองค์พระธาตุเก่าแก่แห่งนี้

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่วัดเพื่อขอทราบข้อเท็จจริง โดยขอเข้าพบ พระครูสังฆพิชัย ดร. (จำนง วรปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์เหลี่ยม และให้ข้อมูลว่า ในวันจัดงานเป็นวันที่ 9 พ.ย. 65 ซึ่งวันจัดงานประเพณียี่เป็งเชียง ทางวัดได้มีการจัดถวายพุทธบูชาด้วยการจุดถางประทีป จำนวน 9,999 ดวง เพื่อบูชาองค์พระธาตุเจดีย์เหลี่ยม โดยมีคณะศรัทธาประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบวัด และคณะศรัทธาที่อยู่ต่างอำเภอ ต่างจังหวัดที่ทราบข่าว ก็ได้เดินทางมาร่วมงาน โดยจุดถางประทีปรอบองค์เจดีย์ ส่วนเรื่องที่มีการจุดพลุนั้น เป็นความคิดของทางคณะกรรมการวัด และคณะศรัทธาที่ไปจ้างช่างทำพลุมาจัดทำกันเอง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กระทั่งมีคลิปปรากฎออกไป ซึ่งหากดูจากคลิปจริงๆ บริเวณยอดที่เห็นพลุแตกออกเป็นวงกว้าง ไม่ได้จุดที่ตัวองค์พระธาตุ แต่จุดบริเวณด้านองค์พระธาตุ เพียงแต่มุมมองของการถ่ายคลิปได้ประจวบเหมาะพอดี ตัวองค์พระธาตุไม่ได้เกิดความเสียหาย

ด้าน นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เดินทางมาตรวจสอบและเข้าพบ ระครูสังฆพิชัย ดร. (จำนง วรปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์เหลี่ยม เพื่อสอบถามข้อมูล และได้ถวายองค์ความรู้ต่อพระสังฆาธิการในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับองค์เจดีย์เก่าแก่ รวมถึงการบูรณะในอนาคต จากนั้นได้เดินตรวจสอบโดยรอบองค์พระเจดีย์ ก็พบเศษชิ้นส่วนของพลุที่ทำการจุดยังห้อยอยู่ด้านบนองค์ตัวพระธาตุบางส่วน และก็มีเศษที่กระจายอยู่บนพื้นด้วย

นายเทอดศักดิ์ กล่าวภายหลังการตรวจสอบว่า จากการเดินตรวจสอบโดยรอบก็พบว่าเป็นพลุ หรือภาคเหนือเรียกว่า “บอกไฟดอก” เป็นพลุที่ถูกนำมาห้อยโยงกัน เมื่อมีการจุดก็จะไปตามสายชนวนและจุดตามแต่ละชั้นที่วางไว้ แล้วการมองจากคลิปที่ปรากฏ ก็พบว่าใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที ก็ดับหมดแล้ว ส่วนพลุที่มีขนาดใหญ่ด้านบน ก็พบว่าเป็นการจุดที่ด้านนอกองค์เจดีย์ เพียงแต่มุมกล้องที่ถ่ายทำให้เหมือนภาพซ้อนว่าจุดจากองค์เจดีย์ ซึ่งผลจากการตรวจไม่พบร่องรอยของความเสียหายของตัวองค์พระธาตุเจดีย์ และพลุที่ทำการจุดก็ไม่ได้ทำการติดตั้งแบบถาวร แต่เป็นการนำไปห้อยไว้ตามจุดต่างๆ ของตัวองค์พระธาตุเจดีย์ และเศษชิ้นส่วนที่พบเห็นเหมือนกว่าแตกจากองค์เจดีย์ออกมาก็ตรวจสอบแล้ว เป็นเศษชิ้นส่วนเก่าที่เคยมีการหลุดลอกออกมาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะตัวองค์พระธาตุได้เคยมีการบูรณะมาก่อน คงยังมีเศษตกหล่นอยู่บริเวณโดยรอบอยู่บ้าง

นายเทอดศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะมีการจัดให้องค์ความรู้กับพระสังฆาธิการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ทราบถึงแนวทางในการประกอบกิจกรรมภายในวัด โดยเฉพาะกับองค์พระธาตุเจดีย์ และโบราณสถานต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งจะได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการบูรณะซ่อมแซมด้วย เพราะจากที่ผ่านมาพบว่าหลายวัดได้มีการบูรณะซ่อมแซม ด้วยกำลังทรัพย์ที่ได้มาจากคณะศรัทธา แต่เมื่อบูรณะไปแล้วกลับพบว่าช่างไม่ได้มีความรู้ที่ชัดเจน ทำให้โบราณสถานหรือองค์พระเจดีย์บางแห่งได้รับผลกระทบ ก็จะได้เร่งจัดให้ความรู้กับพระสังฆาธิการในเร็วๆ นี้

สำหรับวัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ วัดกู่คำ เป็นวัดที่สร้างก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ โดยตรวจพบข้อมูลว่าได้มีการสร้างเมื่อ พ.ศ. 1831 โดยพญามังราย ซึ่งโปรดให้นำดินที่ขุดได้จากหนองต่างใกล้กับคุ้มของพระองค์ในเวียงกุมกามมาทำอิฐเพื่อก่อกู่คำ และตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า “เจ้ามังรายว่า คูมาสร้างเวียงกุมกามเปนที่เพิงใจนัก ควรคูจักก่อเจติยะไว้เปนที่ไหว้แลปูชาดีชะแล ในปีเปิกใจ้ สกราชได้ 650 ตัว เจ้ามังรายจิ่งหื้อไพเอาดินหนองต่างมาก่อเจติยะกู่ฅำวันนั้นแล” สันนิษฐานว่าการสร้างกู่คำในสมัยพญามังรายคงใช้อิฐประกอบกับศิลาแลง ซึ่งตำนานมูลศาสนากล่าวว่า “ท่าน (พญามังราย) ยินดีในศาสนาพระพุทธเจ้า จักใคร่กระทำบุญอันใหญ่ เป็นต้นว่าสร้างเจดีย์นั้น จึงให้อำมาตย์ทั้งหลายหาหินมาแล้วก็ให้ก่อเป็น 4 เหลี่ยม แต่ละด้านให้มีพระพุทธรูปเจ้า 14 องค์ แล้วให้ใส่คำแต่ยอดลงมาดูงามนัก ใส่ชื่อว่ากู่คำ แล้วให้ฉลองและถวายมหาทาน กับทั้งเครื่องอัฐบริขารแก่สงฆ์เจ้ามากนักแล” หินที่กล่าวในตำนานมูลศาสนา คงหมายถึงศิลาแลง ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้สูงอายุเกี่ยวกับลักษณะของเจดีย์กู่คำก่อนการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2451 ว่า มีสภาพเป็นเจดีย์กลวง ข้างในเจดีย์มีทางเข้าออกได้ ภายในก่อด้วยศิลาแลงทั้งนั้น แต่ข้างนอกก่อเป็นอิฐมี 5 ชั้น

แต่หลักฐานจากจารึกสถานที่ประดิษฐานพระธาตุ พ.ศ. 2006 สมัยพระเมืองแก้วเช่นเดียวกัน กล่าวว่ากู่คำเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ “กู่คำกูมกามไว้ธาตุดู(ก)คางขวา” เจดีย์กู่คำมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม มีพระพุทธรูปยืนด้านละ 15 องค์ แต่ละด้านมีซุ้มพระชั้นละ 3 องค์ มี 5 ชั้น รวมทั้งหมด 60 องค์ เป็นการลอกเลียนแบบเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี เหตุที่ได้ชื่อว่ากู่คำ เพราะมีการประดับด้วยทองคำลงมาตั้งแต่ยอด แต่เนื่องจากได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2451 โดยรองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร (หม่องปันโหย่ อุปะโยคิน) คหบดีชาวพม่า ทำให้พระพุทธรูป ซุ้มพระ ลายพรรณพฤกษากลายเป็นรูปแบบศิลปะพม่าไป และมีการเพิ่มพระพุทธรูปนั่งอีก 4 องค์ รวมทั้งหมด 64 องค์ เพื่อให้เท่ากับอายุของรองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร (หม่องปันโหย่ อุปะโยคิน) ในขณะนั้นด้วย เนื่องจากกู่คำมีความสำคัญ จึงได้รับการทำนุบำรุงสืบต่อกันมา จากการขุดแต่งบูรณะและศึกษาของสายันต์ ไพรชาญจิตร์ ชี้ให้เห็นว่า การก่อสร้างลานประทักษิณและกำแพงแก้วของวัดกู่คำตั้งแต่ครั้งแรกจนปัจจุบัน มีการก่อสร้างมาแล้ว 7 ครั้ง อนึ่ง วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2539 มีการค้นพบเศษชิ้นส่วนจารึกอักษรไทยสุโขทัย อายุพุทธศตวรรษ 19–20 บริเวณนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของเจดีย์กู่คำ ซึ่งรูปอักษรและรูปสระในจารึกมีลักษณะใกล้เคียงกับจารึกพ่อขุนรามคำแหงมาก เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงอารยธรรมการใช้อักษรภาษาของกลุ่มชนคนไทยแถบลุ่มแม่น้ำปิงในช่วงสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่