วันเสาร์, 28 ธันวาคม 2567

(คลิป) สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เร่งฟื้นฟูภาพวาดบนประตูโบราณวัดหมื่นล้าน มีลุ้นดึงภาพกลับมาได้สำเร็จ

Social Share

สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เร่งตรวจสอบภาพวาดประตูวัดหมื่นล้าน อายุ 103 ปี เร่งด่วนฟื้นฟู หลังจากช่างทาสีทับภาพวาดโบราณ ผลตรวจสอบมีลุ้นดึงภาพวาดเก่ากลับคืนมาได้สำเร็จ

29 ก.ค. 63 : นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ พร้อมด้วย นายเทิดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนายการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้นำผู้เชี่ยวชาญ จากกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ฯ และกลุ่มอนุรักษ์จิตกรรมฝาผนังฯ กรมศิลปากร เดินทางเข้าพบ พระอธิการสงกรานต์ วิรชยเมธี เจ้าอาวาสวัดหมื่นล้าน ถนนราชดำเนิน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบภาพวาดประตูวิหารวัดหมื่นล้าน ที่ทำการบูรณะโดยช่างได้ทาสีทับลายรดน้ำเดิม ซึ่งมีอายุกว่า 103 ปี และจารึกอักษรล้านนาที่อยู่บนประตูดั้งเดิมระบุการสร้างขึ้นใน พ.ศ.2460 ก่อนที่จะเริ่มสำรวจและใช้นำน้ำยามาตรวจสอบสีที่ถูกทาทับ ก่อนจะทำการฟื้นฟูให้ภาพวาดกลับคืนมา ซึ่งผลจากการทดสอบเบื้องต้นนั้นปรากฎความหวังขึ้นมาจากการใช้น้ำยาลอกคราบสีออก ทำให้เริ่มปรากฎภาพดั้งเดิมออกมาในจุดที่ทดสอบแล้ว

นายเทิดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนายการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการสอบถามทางวัดได้ข้อมูลว่า วัดแห่งนี้ทรุดโทรมตามกาลเวลา และต้องเร่งบูรณะใหม่ เพราะมีคณะศรัทธาของวัดเห็นและบริจาคเงินมา ซึ่งวัดเปรียบเหมือนบ้าน หากมีการพุพัง ก็ต้องมีการซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรง ก็เป็นการดูแล แต่การบูรณะนั้นอาจจะผิดวิธีไปบ้าง หลังจากที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ทราบข่าวและมีสื่อออกข่าวไปมากมาย จึงได้ประสานทางวัดขอให้หยุดการซ่อมแซมไว้ก่อน กระทั่งได้เดินทางมาวันนี้ และจากการสอบถามท่านเจ้าอาวาสวัดพบว่า มีการทารองพื้นสีขาว แล้วลงชาดสีแดงทับเป็นชั้นที่สอง และชั้นที่สามเป็นการลงรักสีดำซึ่งเป็นชั้นสุดท้ายก่อนที่จะมีการเขียนลวดลายลงไป

ส่วนประเด็นที่ว่าประตูวัดนี้อาจจะไม่ใช่ประตูดั้งเดิม จนเกิดกระแสไปมากมายว่าเอาของใหม่มาย้อมหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นประตูไม้ดั้งเดิมแน่นอน สำหรับด้านการฟื้นฟูให้กลับมานั้น ในวันนี้ได้เตรียมเคมี เพื่อนำมาทดสอบ 15 ชนิด เนื่องจากทางวัดก็ไม่ทราบว่า สีที่ช่างได้ทาลงไปนั้นเป็นชนิดไหน ดังนั้น ในวันนี้จึงได้นำน้ำยามาทดสอบว่า สีแต่ละชั้นเป็นสีอะไรบ้าง แล้วมีความบาง ความหนามากน้อยแค่ไหน ซึ่งผลการทดสอบก็พบว่า สีชั้นนอกสุดที่ลงรักสีดำ หรือเป็นสีน้ำมันสีดำสามารถลอกออกมาได้และไม่กระทบสีด้านใน เพราะชั้นที่สองมีชาดสีแดงรองไว้ แต่ก็ไม่หนามาก ส่วนชั้นล่างสุดเป็นสีขาว และที่น่าเป็นห่วงเพราะสีขาวดังกล่าวลักษณะคล้ายกับสีที่นำมาใช้กับการทำสีรถ เป็นอีพ็อกซี่สีขาว แต่ก็โชคดีที่สีรองพื้นยังไม่เซ็ตตัวหรือยังไม่แข็งตัวเต็มที่ เนื่องจากมีชาดสีแดง และรักสีดำชั้นนอกสุด เป็นเหมือนฟิล์มเคลือบไว้ แต่ผลการทดสอบเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ก็พบว่า การจะฟื้นฟูต้องใช้เวลาที่มากพอสมควร แล้วต้องค่อยๆ ทำทีละจุด ไม่สามารถที่จะเปิดรักสีดำ และชาดสีแดงที่ทาทับไว้ทั้งหมดออกทีเดียวได้ เพราะจะเร่งให้อีพ็อกซี่สีขาวที่เป็นสีรองพื้นแข็งตัวเร็วขึ้น หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะฟื้นฟูภาพดั้งเดิมกลับมาได้

การใช้เวลาฟื้นฟูทีละจุดแม้จะช้า แต่ก็ต้องทำด้วยความใจเย็น ค่อยๆ ลอกสีออกแต่ละชั้น ไม่ให้กระทบกับภาพดั้งเดิม แล้วต้องทำทั้งบาน อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 อาทิตย์ ซึ่งจะเร่งระดมเจ้าหน้าที่พร้อมน้ำยาเพิ่มเติมเข้ามาดำเนินการให้เร็วที่สุด ต้องแข่งกับเวลาไม่ให้สีเซ็ตตัว นอกจากนี้ก็ต้องห่วงสุขภาพของเจ้าหน้าที่ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำยาเคมีด้วย ขณะนี้ก็มีความมั่นใจอย่างมากที่จะฟื้นฟูให้กลับคืนมา แต่จะถึง 100 เปอร์เซ็นต์ยังไม่สามารถบอกได้ ก็จะทำให้ดีที่สุด

ในอนาคตหากวัดแห่งนี้ต้องการจะขึ้นเป็นโบราณสถานก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องตรวจสอบตามรายละเอียดและขั้นตอน เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไม่ใช่ไม่อยากขึ้น แต่การขึ้นโบราณสถานต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของก่อน หลังจากนี้ทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ก็เตรียมขยายองค์ความรู้ให้กับพระสังฆาธิการ และผู้ดูแลวัด ให้มากที่ขึ้น แม้ว่าจะทำมาตั้งแต่ปี 2536 แล้ว แต่พบว่าโบราณสถานมีมาก และความรู้อาจจะไม่ทั่วถึง ก็จะเร่งเสริมความรู้เพิ่มเติม ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้

ดังนั้น จึงอยากจะฝากไปถึงวัดต่างๆ ที่มีโบราณสถานและยังไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียน รวมถึงวัดที่ขึ้นทะเบียนแล้ว หากจะมีการซ่อมแซม ต่อเติมส่วนใดที่เป็นประวัติศาสตร์ เป็นโบราณสถาน ขอให้ปรึกษามาทางกรมศิลปากรก่อน เพื่อที่จะได้เข้าไปตรวจสอบ และแนะแนวทางการบูรณะซ่อมแซมที่ถูกต้องให้ เพราะในพื้นที่ภาคเหนือยังคงมีอีกมากที่ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียน และบางแห่งบูรณะไปจนทำให้โบราณสถานเก่าแก่ดั้งเดิมที่เคยมีลดน้อยลง กลายเป็นของใหม่ หรือเหลือของเก่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งทางกรมศิลปากรไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

เรื่องมาใหม่