สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปจัดการประชุมคณะวัตถุดิบข้าวโพดหวาน “วอนขอรัฐบาลเห็นใจช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร”
29 พฤศจิกายน 2562 : สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป โดย นายองอาจ กิตติคุณชัย อุปนายกและประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน จัดการประชุมคณะวัตถุดิบข้าวโพดหวาน ครั้งที่ 3/2562 ณ ห้องประชุมเวียงแก้ว ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ จังหวัดเชียงใหม่
โดยได้ร่วมกันพิจารณา สถานการณ์วัตถุดิบข้าวโพดหวาน ด้านปริมาณการผลิตและพื้นที่เพาะปลูก สถานการณ์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวาน ราคาวัตถุดิบและการส่งออกสินค้า รวมถึงหารือเกี่ยวกับประกาศยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งมีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2563
นายองอาจ เปิดเผยว่า การประกาศยกเลิกใช้สารเคมีดังกล่าว ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากปัจจุบันในการทำการเกษตร อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน เป็นต้น ยังมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีหรือสารใดที่มาทดแทนได้ การยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในทันทีจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง เกษตรกรมีต้นทุนในการเพาะปลูกสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้งนี้ควรมีแนวทางที่การลดความสูญเสียดังกล่าว ในระหว่าช่วงที่หาสารทดแทน การใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชจึงเป็นทางเลือกของเกษตรกรในการทำการเกษตร โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมีมาตรการควบคุมการใช้งานที่ปลอดภัย การให้ความรู้และวิธีการใช้งานสารเคมีที่เหมาะสม
นายทนงศักดิ์ ไทยจงรักษ์ ที่ปรึกษาผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน กล่าวว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีความจำเป็นในการทำ อุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน ซึ่งข้อมูลการใช้สารพาราควอต กว่า 40 ปี ในไทย ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ได้รับอันตรายจากสารดังกล่าว ทั้งนี้การประกาศยกเลิกใช้โดยที่ปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีใดสามารถทดแทนได้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร ในด้านต้นทุนที่สูงขึ้น ประมาณ 2,000 บาท ต่อไร่
นายปรีชา จงประสิทธิพร ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อวัตถุดิบ บริษัท กาญจน์ คอร์น จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันในไทยมีเกษตรกรปลูกข้าวโพดหวานกว่า 6 แสนไร่ โดยเกษตรกรมีรายได้ลดลง เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบลดลง และต้นทุนที่สูงขึ้น มาจากปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ ภัยแล้ง และ การระบาดของหนอนกระทู้ลายจุดในหลายพื้นที่ การที่รัฐออกประกาศยกเลิกใช้สารเคมีศัตรูพืช ส่งผลกระทบให้ต้นทุนในการปราบวัชพืชสูงขึ้น จึงขอให้รัฐบาล ช่วยพิจารณาและเยียวยาเกษตรกร และอุตสาหกรรมเกษตร ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุน และผลผลิตเสียหายไม่สามารถรับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ ทั้งนี้เสนอให้รัฐควรศึกษาและหาสารชนิดอื่น ที่สามารถทดแทนพาราคอตได้
การส่งออกสินค้าข้าวโพดหวาน ได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาท ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจการค้าอุตสาหกรรมเกษตร และกระทบต่อภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้วอนให้รัฐบาลเข้ามาดูแลให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และสร้างมาตรการที่เหมาะสมและวิธีการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รัฐบาลหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยบริหาร เนื่องจากรายได้จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตรถือเป็นรายได้สำคัญของประเทศ นายองอาจกล่าวทิ้งท้าย
เรื่องมาใหม่
- (คลิป) เชียงรายจัดโครงการ “ปั้นเยาวชนคนมืออาชีพ” เสริมทักษะอาชีพในโรงเรียน
- เชียงราย ทหารพรานรวบสาวเทอดไทยขนยาบ้า กว่า 5 แสนเม็ด
- อุทยานฯ สาละวิน เตรียมแผนตั้ง 40 จุดเฝ้าระวัง จับมือชุมชนร่วมป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า
- แม่ฮ่องสอน เปิดกิจกรรม Kick Off ร่วมใจป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง
- แม่ฮ่องสอน หารือ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง สรุป 5 แผนพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน