วันจันทร์, 23 ธันวาคม 2567

มทร.ล้านนา จับมือ อบต.แม่แวน อ.พร้าว อบรมทักษะการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ให้แก่ ปชช.ในระบบคุมประพฤติ พัฒนาสู่อาชีพในอนาคต

Social Share

มทร.ล้านนา จับมือ อบต.แม่แวน อ.พร้าว อบรมทักษะการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ให้แก่ ปชช.ในระบบคุมประพฤติ พัฒนาสู่อาชีพในอนาคต

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับ งานพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแม่แวน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการระบบกลไกการทำงานของเครื่องยนต์การเกษตรและการนำไปใช้ประโยชน์พร้อมกับวิธีการบำรุงรักษาเบื้องต้น ณ ศูนย์คุมประพฤติภาคประชาชน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวการทำงานของระบบเครื่องยนต์เล็กเช่นการตรวจเช็คเครื่องยนต์ การวัดเปลื่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง การปรับตั้งรอบเครื่องยนต์ และทักษะการใช้เครื่องมือในการปฏิบัติงานช่างอย่างปลอดภัย

โดยมีบุคลากรจาก มทร.ล้านนาเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติประกอบด้วย นายวธัญญู วรรณพรหม บุคลากรประจำศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาชีพและเทคโนโลยี(COE) มทร.ล้านนา  นายศุภกิจ ศรีเรือง บุคลากรประจำหน่วยงานภายใต้ร่มพระบารมี สำนักงานอธิการบดี มทร.ล้านนา และ อาจารย์เมธัส ภัททิยธนี อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา

ในการนี้ นายนายวรุตม์ วิศิษฏ์ศิลป์ นายอำเภอพร้าว ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการในพื้นที่เดินทางเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งกลุ่มเป้าหมายได้แก่ประชาชนผู้กระทำความผิดที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานคุมประพฤติ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 30 ราย

สำหรับกิจกรรมการดังกล่าว จัดขึ้นภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพราษฏร ต.แม่แวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยองค์การบริหารส่วนตำบลแม่แวนและมีการบูรณาการด้านวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมคลล้านนา ซึ่งได้ส่งบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถไปเป็นวิทยากรในโครงการ ซึ่งสอดคล้องตามพันธกิจมหาวิทยาลัยข้อที่ 3 “การให้บริการวิชาการที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับบริบทมหาวิทยาลัยด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี และตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น ชุมชนและสังคม”เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการอบรมมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ทางการเกษตรได้อย่างถูกต้องปลอดภัยตามหลักมาตรฐานวิชาชีพ และสามารถนำความรู้ไปต่อยอดการประกอบอาชีพช่างยนต์ได้ในอนาคต อันจะก่อให้เกิดรายได้แก่ครอบครัว มีการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน จนสามารถลดละเลิกพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ