วันศุกร์, 27 ธันวาคม 2567

ชลประทานเชียงใหม่ มั่นใจบริหารจัดการน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วงได้ ให้เกษตรกรอดใจรอปลูกข้าวนาปีพร้อมกัน 15 ก.ค.นี้

Social Share

2 ก.ค. 63 : นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า จากการประชุมและตรวจเยี่ยมโครงการชลประทานเชียงใหม่ในห้วงที่ผ่านมา เพื่อรับทราบถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมบริหารจัดการน้ำในช่วงภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และช่วงฤดูฝนที่อาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งจากรายงานในที่ประชุมจากนายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมชลประทาน ถือได้ว่าการบริหารจัดการของโครงการชลประทานเชียงใหม่เป็นที่น่าพอใจมาก งานของโครงการชลประทานเชียงใหม่ไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องงานด้านชลประทานเท่านั้น แต่ยังมีงานที่ต้องประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานชลประทานทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย การปฏิบัติล้วนเป็นไปตามนโยบายของท่านอธิบดีกรมชลประทานที่ได้มอบไว้ วันนี้ยังได้รับรายงานถึงความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำ รวมการนำนโยบาย IT Mobile ไปปรับใช้เป็นผลสำเร็จแล้ว ถือได้ว่าเป็นโครงการหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กรมชลประทาน

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้เข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 63 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม ในลุ่มน้ำปิงตอนบนยังมีฝนตกค่อนข้างน้อย สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนใหญ่ไว้คือ ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลจะต้องนำน้ำไปใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยในช่วงฝนตกน้อยปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงมีน้อยก็จะใช้ก็จะส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรกซึ่งต้องใช้อยู่ราว 10 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะมีน้ำใช้ในส่วนนี้ไปจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม

ขณะเดียวกันในส่วนพื้นที่ทางการเกษตรได้ประชาสัมพันธ์และร้องขอให้พี่น้องเกษตรกรชะลอการทำนาปีออกไปก่อน ให้ถึงวันที่ 15 กรกฎาคมไปแล้วค่อยเริ่มทำการเพาะปลูก เพราะในช่วงเวลาที่ว่านี้ฝนจะชุกสามารถทำนาปีได้ค่อนข้างมีน้ำใช้อย่างมั่นคง แม้ว่าในช่วงนั้นจะมีบ้างที่ฝนทิ้งช่วงก็จะส่งน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งมาช่วยในการทำข้าวนาปีในปีเพาะปลูก 2563 ในลุ่มน้ำปิงตอนบนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่เกิดความเสียหาย

สิ่งที่ยังเป็นข้อกังวลคือ ปริมาณฝนที่ตกลงมาแต่ไม่ตกบริเวณเหนือเขื่อนซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 1 แหล่งสำรองน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงของจังหวัดเชียงใหม่อยู่หลายแห่ง ฝนที่ตกไม่ไปตกเหนือเขื่อน ส่งผลให้น้ำไม่ไหลเข้าเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำมากนัก แต่ถือว่าในช่วงวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า มีฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้มีน้ำเข้าเขื่อน 2 เขื่อนใหญ่ รวมกว่า 8 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีปริมาณมากขึ้น ที่พอจะเก็บกักไว้เพื่อช่วยเหลือการเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงที่จะถึงนี้