วันเสาร์, 11 มกราคม 2568

“วราวุธ” สั่งเข้ม ยกระดับ เฝ้าระวัง ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ภาคเหนือ เป็นพิเศษ ช่วง มี.ค. – เม.ย. นี้

Social Share

“วราวุธ” สั่งเข้ม ยกระดับ เฝ้าระวัง ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ภาคเหนือ เป็นพิเศษ ช่วง มี.ค. – เม.ย. นี้ เตรียมประสาน กท.มหาดไทย ให้ท้องถิ่นช่วยออกงบประมาณป้องกันไฟป่า

วันที่ 19 มีนาคม 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน

โดยช่วงเช้า เวลา 09.35 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ณ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า) ทส. อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และผ่านระบบ VDO Conference ไปยังหน่วยงานในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังรายงานสรุปภาพรวมการเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จากนายจงคล้าย วรพงศธร รองปลัดกระทรวงฯ ตลอดจนรับฟังรายงานสถานการณ์และการเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ โดย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ การเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และการเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันในพื้นที่ป่าสงวน โดย อธิบดีกรมป่าไม้

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้เน้นย้ำถึงความห่วงใยและการให้ความสำคัญของรัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านกลไกคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และ แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 “1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ”

ทั้งนี้ รมว.ทส. ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2565 ซึ่งได้กำชับให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยยกระดับการทำงานเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไข และควบคุมไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในทุกมิติ ให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับพื้นที่ ใช้บทเรียนที่ได้จากการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นองค์ความรู้ในการกำหนดแผนงาน และการปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ นำไปสู่การป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันได้อย่างยั่งยืน พร้อมประสานผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ปภ. จังหวัด ประกาศระดับจังหวัดช่วงห้ามเผาหรืองดเว้นการเผาป่า เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เผาขยะ และเผาวัชพืชข้างทาง หรือการเผาในพื้นที่โล่ง พร้อมบทลงโทษตามกฎหมาย รวมทั้งกำหนดเขตความรับผิดชอบ และมอบหมายการปฏิบัติที่ชัดเจน โดยให้แจ้งหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อพร้อมมีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง และให้มีศูนย์การปฏิบัติการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันระดับตำบล และหมู่บ้าน โดยขอความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงให้รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับเครือข่ายและประชาชนทุกช่องทาง โดยเฉพาะกลุ่มคนเผาป่า โดยให้เกิดจิตสำนึก ความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง สอดส่องดูแลและแจ้งจับผู้กระทำผิดกฎหมาย ตลอดจนให้ประชาชนรับรู้และเกรงกลัวกฎหมาย รวมทั้งระดมสรรพกำลังภาคประชาชนจากกลุ่มมวลชนของหน่วยงาน สังกัด ทส. มาสนับสนุนการปฏิบัติของศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันในทุกระดับ โดยให้ ทสม. เป็นแกนนำ ร่วมกับอาสาสมัครป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า และเครือข่ายอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่

สำหรับ สถานการณ์จุดความร้อน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่เดือน ม.ค. – ปัจจุบัน (18 มี.ค.2565) พบจุดความร้อน (Hot spot) ลดลงร้อยละ 69 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ซึ่งเมื่อแยกจุดความร้อนตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบว่า 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เกิดจุดความร้อนในพื้นที่ป่าเป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87) ในขณะที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างเกิดจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรเป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 59)

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบจุดความร้อนสะสมในอนุภูมิภาคแม่โขง 5 ประเทศ (เมียนมา กัมพูชา ไทย สปป.ลาว และเวียดนาม) ประเทศไทย มีจำนวนจุดความร้อนลดลงมากที่สุด ส่วนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ พบค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ลดลงร้อยละ 38 และจำนวนวันที่มีค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน ลดลงร้อยละ 43 ขณะนี้จำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ในภาคสนาม ช่วงในปี 63 เจอปัญหาอะไรบ้างทำไมถึงมีค่าสูงกว่าปีอื่นๆ ที่ผ่านมา และหลังจากนั้นมีฝนตกลงมามากขึ้นทำให้จุดความร้อนและค่า PM 2.5 ลดลง ก็จะทำให้ทราบว่าหากมีฝนตก เรื่องสภาพอากาศ มีผลกระทบกับจุดความร้อน และในอนาคตมีปริมาณฝนลดลง ก็จะเกิดปัญหาตรงนี้ขึ้นมาอีก ก็ต้องมีการวางแผนในการลดปริมาณเชื้อเพลิง โดยมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษไปทำการแยกแยะว่าต้นเหตุของ PM 2.5 มาจากอะไรบ้าง แล้วสลายเองได้หรือไม่ ทำการป้องกันอย่างไรได้บ้าง เพื่อจะได้แจ้งให้กับพี่น้องประชาชนให้ทราบ แม้ว่าสถานการณ์ในตอนนี้จะดีขึ้น แต่ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้มากขึ้นไม่ให้สถานการณ์กลับขึ้นมากระทบต่อพี่น้องประชาชนอีก แต่เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วพบว่ายังมีจุดความร้อนที่สูงอยู่ เราไม่สามารถไปสั่งให้ประเทศอื่นหยุดเผาได้ คงต้องประสานกับรัฐบาลแต่ละประเทศเพื่อขอความร่วมมือ เมื่อมีลมพัดลมเพเข้ามาก็อยู่เหนือการควบคุมของเรา แต่สิ่งไหนที่อยู่ในการควบคุมของเราได้เช่น ในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ เขตพื้นที่ป่า ก็เป็นสิ่งที่เราควบคุมก็ได้ดำเนินการควบคุมให้ดีที่สุด ขณะนี้ก็เข้าสู่ห้วงการห้ามเผาแล้ว และขณะนี้ก็อยู่ในช่วงการเก็บข้อมูลสถิติว่า เชื้อเพลิงต่างๆ ที่มีอยู่จะนำมาสร้างรายได้ให้กับพี่น้งประชาชนได้อย่างไรบ้าง

ได้เร่งของบประมาณปี 66 ก็ได้มากกว่าปี 64 ที่ผ่านมา บางอย่างเราก็อยากได้ แต่บางเรื่องเราก็ไม่ได้เพราะหลายกระทรวง หลายหน่วยงานก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณเหมือนกัน แต่ภารกิจดับไฟป่า ก็ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น ซึ่งขอหารือกับทางกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่เป็นการผลักดันไปยังท้องถิ่น แต่จะพูดถึงว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่กระทรวงทรัพย์ฯ ออกส่วนหนึ่ง และท้องถิ่นออกส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการเรื่องป้องกันการเผาและป้องกันหมอกควันในพื้นที่

ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีปัญหาเรื่องหมอกควันข้ามแดนเข้ามา และบ่ายนี้ก็จะเดินทางไปดูว่าจะไปป้องกันการเเกิดจุดความร้อนในพื้นที่ แล้วก็ดูเรื่องของสภาพอากาศว่าจะเป็นอย่างไร เอาจุดรวจวัดคุณภาพอากาศของแต่ละที่มาตรวจสอบ เพื่อจะได้แยกแยะว่า PM 2.5 ที่เกิดขึ้นมาจากเรื่องอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหา