เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พิธีบรรพชาสามเณรและถวายเครื่องไทยทาน เนื่องในงานประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี 2568 วัดหัวเวียง
วันที่ 4 เมษายน 2568 ณ วัดหัวเวียง ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน พระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ ดร. เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยกองมู เป็นประธานฝ่ายสงฆ์พิธีบรรพชาสามเณรและถวายเครื่องไทยทาน เนื่องในงานประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี 2568 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน และคณะเจ้าภาพส่างลอง ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก โดยมีส่างลองเข้าร่วมพิธีบรรพชาในครั้งนี้ จำนวน 14 รูป
ประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี 2568 เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ร่วมกับชุมชนกลางเวียง และวัดหัวเวียงสืบสานงานประเพณีปอยส่างลอง (บวชลูกแก้ว)ประจำปี 2568
งานประเพณีปอยส่างลอง ( บวชลูกแก้ว ) คือการบรรพชาหรือการบวชเณรของชาวไทใหญ่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่สืบทอดมายาวนาน
คำว่า “ปอยส่างลอง” เป็นภาษาไทใหญ่ “ปอย” แปลว่า งาน เช่นงานปอยเหลินสิบเอ็ด ปอยจ่าตี่ “ส่าง” เพี้ยนมาจาก สางหรือขุนสาง หมายถึง พระพรหม หรืออีกความหมายหนึ่งมาจากคำว่าเจ้าส่าง ซึ่งหมายถึงสามเณร ส่วนคำว่า “ลอง” มาจาก “อลอง” หมายถึง พระโพธิสัตว์ หรือหน่อพุทธางกูร (หน่อเนื้อเชื้อไขพระพุทธเจ้า) หรือราชบุตร
ตามความเชื่อดั้งเดิมของการจัดงานปอยส่างลองนั้น จะต้องมีพิธีต่าง ๆ เพื่อเตรียมตัวก่อนบวชอยู่ 3-4 วันด้วยกัน ได้แก่
- วันแรก เรียกว่า วันรับส่างลอง ในตอนเช้าเจ้าภาพส่างลองจะนำบรรดาเด็กชายไปวัด เพื่อแต่ชุดส่างลอง
- วันที่ 2 เรียกว่า วันข่ามแขก คือ วันรับแขกนั่นเอง จะเป็นวันที่ญาติพี่น้องจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน
- วันที่ 3 เรียกว่า วันแห่ครัวหลู่ เป็นวันแห่งเครื่องไทยทาน มีการแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานจากวัดไปตามถนนสายต่าง ๆ ขบวนแห่ประกอบด้วยจีเจ่ (กังสดาล) ม้าเจ้าเมืองต้นตะเป่ส่าพระพุทธ ต้นตะเป่ส่าพระสงฆ์ ปุ๊กข้าวแตก เทียนเงินเทียนทอง พุ่มเงินพุ่มทอง อู่ต่องปานต่อง หม้อน้ำต่า อัฐบริขาร ดนตรีประโคมและขบวนแห่ส่างลอง โดยให้ส่างลองขี่คอพี่เลี้ยงเรียกว่า “ตะแปส่างลอง” มีกลดทอง หรือ ” ทีคำ” แบบพม่าไว้บังแดด ช่วงเย็นวันเดียวกัน มีพิธีเรียกขวัญส่างลอง หรือพิธีทำขวัญนาค
- วันที่ 4 เรียกว่า วันข่ามส่าง หรือวันหลู่ วันบรรพชาส่างลอง นำส่างลองไปบรรพชาเป็นสามเณรในวันข่ามส่าง ผู้คนจะมาชุมนุมกันที่วัดกันตั้งแต่เช้า จนได้เวลาพอสมควรก็จะมีการ ถ่อมลีก คืออ่านหนังสือธรรมะให้ทุกคนฟังอันเป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีซึ่งถือเป็นประเพณีสืบทอดกันมานาน เมื่อได้เวลาฉันเพลก็จะมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่นิมนต์มาร่วมพิธีบรรพชาสามเณรก่อนแล้วจึงเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงานพิธีเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
Cr. ฉลอง หมั่นสกุล จ.แม่ฮ่องสอน
เรื่องมาใหม่
- อบต.แม่คง เร่งช่วยเหลือมอบถุงยังชีพ ราษฏร 3 ครอบครัว หลังพายุลมกรรโชกแรงพัดบ้านพังเสียหาย
- สภ.แม่สะเรียง ระดมกำลังปล่อยแถวกวาดล้างอาชญากรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์
- สัมผัสวัฒนธรรมชนเผ่า เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศพพ.แม่ฮ่องสอน จัดกิจกรรม “สืบสาน สืบสายใย สานสัมพันธ์ครอบครัวชนเผ่า” รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ
- เที่ยวสงกรานต์ 12 – 16 เม.ย. 68 นี้ เจ้าอาวาสวัดต่อแพ เชิญชมการแข่งขันการถ่อแพ ในลำน้ำยวม
- ศุภมังคลาพิธีปั้น-มังคลาภิเษกพระอุปคุตเถระ (พระทันใจ) วัดพระธาตุปางหมู