วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

(มีคลิป) กรมโยธาฯ ระดมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและประชาชน วางผังชุมชนเมืองพะเยา

Social Share

กรมโยธาฯ ระดมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการศึกษาออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะชุมชนเมืองพะเยา

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.65 นายชุติเดช มีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานเปิดการประชุมระดมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2 เพื่อการศึกษาออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะชุมชนเมืองพะเยา โดยมีนายนรินทร์ กวางทอง โยธาธิการและผังเมือง จ.พะเยา นางสุมิตรา กัณฑมิตร นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา และผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าร่วมประชุมพร้อมประชาชนในพื้นที่เทศบาลเมืองพะเยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 200 คน ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ณ ห้องพุดตาน โรงแรมพะเยาเกทเวย์

นายชุติเดช มีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า อดีตปี 2520 พะเยาเราก็เป็นแค่อำเภอของ จ.เชียงราย แต่พอการบริหารราชการแผ่นดินเปลี่ยนขึ้นมาเราได้มีโอกาสเป็น จ.พะเยา ซึ่งต้องมีการวางแผนเมืองให้เป็นเมืองที่มีทิศทางในการพัฒนา ถ้าเรามองยุทธศาสตร์พะเยาเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวจะไม่ให้เป็นแค่ทางผ่าน เราต้องมีผังเมืองเป็นการเฉพาะจากนี้ไป10 ปี 20 ปี ข้างหน้า จ.พะเยาจะมีทิศทางอย่างใด ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมนำเสนอให้สอดคล้องกับบริบทของจังหวัดที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

จากนั้น ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง และผู้จัดการโครงการ ได้ดำเนินการ ชี้แจงแผนพัฒนาพื้นที่ จำนวน 15 โครงการ พร้อมภาพเคลื่อนไหว เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ ก่อนเปิดโอกาสให้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เพื่อนำไปปรับรูปแบบก่อนนำเสนอบรรจุในแผนพัฒนาของกรมโยธาธิการต่อไป

นายนริทนร์ กวางทอง โยธาธิการและผังเมือง จ.พะเยา กล่าวสรุป ว่า ข้อมูลจากที่ประชุมซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อการออกแบบเมืองเพื่อเข้ากับบริบทเข้ากับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้ง 15 โครงการก็ไม่ได้ทำตามแบบที่นำเสนอเสมอไปแต่สามารถ แก้ ปรับ เปลี่ยนแปลงได้หมด โดยอยากให้ตรงใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จริงๆ ที่เร่งทำโครงการนี้ เพื่อไม่ให้ จ.พะเยาเสียโอกาสในการขอสนับสนุนงบประมาณ เมื่อได้รับความเห็นชอบประชามติจากพี่น้องประชาชนแล้ว ต้องนำไปเข้าคิวไว้ก่อนหากได้รับงบประมาณมาแล้วรูปแบบต่างๆ ที่เบื้องต้นเห็นชอบแล้วแต่กว่าจะได้อนุมัติงบประมาณ 2-3 ปี บริบทเมืองเปลี่ยนไปก็ยังสามารถแก้ไขรูปแบบได้อยู่ โดยขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมปักหมุดลงคะแนนให้โครงการที่ต้องการมากที่สุดมาเป็นอันดับหนึ่งของการพัฒนา ซึ่งที่ประชุมได้ลงมิติให้โครงการตลาดโต้รุ่งหนองระบูได้รับการปรับปรุงแก้ไขเป็นอันดับแรก