วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2567

สบเมยคึกคัก งานวันของดีอำเภอสบเมยและประเพณีวัฒนธรรมรวมชนเผ่าชาวสบเมย

Social Share

สบเมยคึกคัก งานวันของดีอำเภอสบเมยและประเพณีวัฒนธรรมรวมชนเผ่าชาวสบเมย

วันที่ 24 มกราคม 2565 อำเภอสบเมย จัดงานวันของดีอำเภอสบเมยและประเพณีวัฒนธรรม รวมชนเผ่าชาวสบเมย 2566 ขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 มกราคม 2566 เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ของดีขึ้นชื่อของอำเภอสบเมย ตลอดจนการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นของพี่น้องชนเผ่าในพื้นที่ เพื่อให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งอำเภอสบเมย ยังมีพริกกะเหรี่ยงที่แหล่งปลูกที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อและเป็นที่ต้องการของตลาด สร้างรายได้ให้แก่ราษฎรสบเมยเป็นอย่างมาก

บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสบเมย ได้มีการจัดให้มีการแข่งขัน กิจกรรมที่สร้างสีสันภายในงานการแข่งขันการประกอบเมนูอาหารจานเด็ดรสเผ็ดจากพริกกะเหรี่ยง อาทิ ลาบหมู แกงข้าวเบอะ และ น้ำพริกเลิศรสต่างๆ ของกลุ่มชาวบ้านจาก 6 ตำบล นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแข่งตำข้าว ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมคู่กับพี่น้องชนเผ่าชาวสบเมยมายาวนาน และในฃ่วงค่ำคืนที่ผ่านมา ได้มีการประกวดริ้วขบวนพริกกะเหรี่ยงของหน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งทุกคนได้ร่วมกันรณรงค์สวมใส่เสื้อผ้าของแต่ละชนเผ่ามาร่วมงานในครั้งนี้ โดยได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เดินทางมาเป็นประธานในพิธี

นายจรูญ จิณะกันต์ ปลัดอาวุโสอำเภอสบเมย เปิดเผยว่า การจัดงานวันของดีอำเภอสบเมยและประเพณีวัฒนธรรมรวมชนเผ่าชาวสบเมย เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วทุกที่และนักท่องเที่ยวได้รู้จักสินค้าผลิตภัณฑ์ ประเพณีวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวของ ของอำเภอสบเมยมากยิ่งขึ้น ภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการร้านค้าของดีของเด่นของแต่ละตำบล การออกร้านของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ในพื้นที่ การประกวดผลผลิตทางการเกษตร การประกวดไก่พันธุ์พื้นเมือง ไก่แม่ฮ่องสอน การแข่งขันชกมวยไทย การประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่ง การประกวดธิดาพริกกะเหรี่ยง การแสดงจากนักเรียนในพื้นที่ และการแสดงจากศิลปินชื่อดังมากมาย

สำหรับพริกกะเหรี่ยง ถือเป็นอีกหนึ่ง พืชผลทางการเกษตรที่สร้างรายได้ให้กับราษฏรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ด้วยเหตุที่พริกกะเหรี่ยงเป็นพริกที่มีความเผ็ดและมีกลิ่นหอม เป็นที่ต้องการของตลาดมาก อีกทั้งอำเภอสบเมยเป็นแหล่งผลิตพริกกะเหรี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน