ป.ป.ส. เปิดเวที “ถอดรหัสสีม่วง” (คีตามีน) คืออะไร สร้างความเข้าใจ เพิ่มความรู้ให้ผู้ปฏิบัติงาน การตรวจพิสูจน์สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ตามหลักสากล-ภาคสนาม-ห้องแล็บ
วันที่ 2 ธันวาคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม จัดสัมมนา เรื่อง “ถอดรหัสสีม่วง” (คีตามีน) โดย นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มอบหมายให้ พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานเปิดงานสัมมนา พร้อมด้วย พ.ต.อ.หญิง สุนันท์ ฟูปลื้ม นักวิทยาศาสตร์ (สบ 4) สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, ศาสตราจารย์ ดร. ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้แทนสมาคมเคมีแห่งประเทศไทย, น.ส.กัญญนันทน์ คงภัสนิธิโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมเป็นวิทยากร และ พ.ต.อ.เรวัต คติธรรมนิตย์ อาจารย์พิเศษ ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการอภิปราย โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, กอง 12 ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานภายในสำนักงาน ป.ป.ส. รวมกว่า 70 คน ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส. (ดินแดง)
พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและนักวิชาการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจถึงสถานการณ์ยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งดำเนินการแก้ไข นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและเครื่องมือในการตรวจพิสูจน์สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ทั้งในห้องปฏิบัติการและภาคสนาม รวมถึงการใช้ชุดทดสอบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและหน่วยงานภาคีในต่างประเทศ
“สืบเนื่องมาจากกรณีของการตรวจพิสูจน์คีตามีน นำมาสู่การสัมมนาในครั้งนี้ ที่จะมีการสาธิตการตรวจพิสูจน์สารโดยใช้ชุดทดสอบภาคสนาม และการอภิปรายจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงหารือแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป”
โดยก่อนเข้าสู่ช่วงการสัมมนา สำนักงาน ป.ป.ส. นำโดย พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และ น.ส.กัญญนันทน์ คงภัสนิธิโรจน์ ผอ.สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด ได้นำเจ้าหน้าที่มาสาธิตการตรวจพิสูจน์ โดยใช้ชุดตรวจเบื้องต้นที่ใช้ในการลงพื้นที่ตรวจสารต้องสงสัย ซึ่งในวันนี้มีสารตัวอย่าง 3 สาร คือ 1.สารที่ยึดได้จากโกดังที่บางปะกง 2.สารมาตรฐานไตรโซเดียมฟอสเฟต และ 3.สารมาตรฐานคีตามีน ซึ่งผลการทดสอบปรากฏว่าทั้ง 3 สารให้ผลเป็นสีม่วงทั้งหมด
น.ส.กัญญนันทน์ กล่าวว่า ผลการทดสอบจากชุดตรวจภาคสนามนี้ ยืนยันว่าทั้ง 3 สารให้ผลเป็นสีม่วงเหมือนกัน ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าการตรวจโดยชุดทดสอบภาคสนาม เป็นเพียงการยืนยันเบื้องต้นในที่เกิดเหตุว่าเป็นสารต้องสงสัย แต่การที่จะดำเนินคดีได้จะต้องใช้ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งจะสามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็นสารชนิดใด
จากนั้นเข้าสู่ช่วงสัมมนา ศาสตราจารย์ ดร. ธีรยุทธ กล่าวย้ำว่า สาเหตุที่ว่าทำไมสารที่นำมาทดสอบทั้ง 3 สารจึงให้ผลเป็นสีม่วงเหมือนกันนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นข้อจำกัดของชุดทดสอบ ซึ่งจากการศึกษาและทดสอบสารหลายชนิดกับชุดทดสอบดังกล่าว พบว่าชุดทดสอบนี้ค่อนข้างจำเพาะว่าให้ผลสีม่วงกับยาเค โดยชุดทดสอบนี้เป็นชุดทดสอบเดียวที่เราใช้อยู่เนื่องจากเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ทั่วโลกใช้ อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ทดสอบสารทุกชนิดที่มีอยู่บนโลกกับชุดทดสอบนี้ จึงไม่จำเป็นว่าสารที่ให้ผลการทดสอบเป็นสีม่วงจะเป็นยาเคทั้งหมด รวมถึงเราไม่เคยรู้มาก่อนว่าฟอสเฟตก็ให้ผลสีม่วง ซึ่งในความเป็นจริงก็อาจจะมีสารอื่นที่ให้ผลสีม่วงได้เช่นกัน
“บทเรียนที่ได้คือ ต้องยอมรับว่าผลจากชุดทดสอบภาคสนามของเราเป็นเพียงผลเบื้องต้น สุดท้ายการยืนยันผลจะต้องใช้การตรวจจากห้องแล็บ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลา ทั้งนี้ แนวทางต่อไปในการตรวจพิสูจน์ในภาคสนามเพื่อให้ได้ความแม่นยำที่มากขึ้น คือ อาจใช้การทดสอบ 2 ชุดที่มีรูปแบบต่างกันเพื่อยืนยันผล หรือใช้วิธีการ TLC (Thin-Layer Chromatography) ที่อาศัยหลักที่ว่าสารที่มีโครงสร้างเหมือนกันจะเคลื่อนที่ผ่านตัวกลางไปในระยะทางที่เท่ากัน ซึ่งในหลายมหาวิทยาลัยมีแนวคิดที่จะพัฒนาชุดทดสอบเบื้องต้นให้มีความน่าเชื่อถือได้มากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ภาคสนาม นอกจากนี้ยังอาจต้องพัฒนาชุดตรวจเพิ่ม และพัฒนาเครื่องมือเพิ่ม เพื่อให้ตรวจพิสูจน์สารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร. ธีรยุทธ กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.เรวัต กล่าวว่า ปัญหาในวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ห้องแล็บ แต่ต้องทำให้สังคมเข้าใจกับสารเคมีใหม่ตัวนี้ ซึ่งสารบางตัวเป็นสารที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อทดสอบในเบื้องต้นกลับให้ผลเป็นสีม่วง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อน ขณะที่ชุดทดสอบที่ประเทศไทยใช้อยู่นั้นเป็นชุดเดียวกับที่ทั่วโลกใช้ และในอนาคตก็หวังว่าจะมีเครื่องมือที่ช่วยเจ้าหน้าที่ใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
ขณะที่ พ.ต.อ.หญิง สุนันท์ กล่าวว่า การตรวจพิสูจน์ในภาคสนาม เป็นการตรวจเพื่อระบุสารที่สงสัย โดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น แต่มีข้อจำกัดในการระบุสารอย่างละเอียด และเมื่อชุดจับกุมส่งให้พนักงานสอบสวนจะมีการตรวจเบื้องต้นอีกครั้ง จากนั้นต้องนำส่งสถานตรวจพิสูจน์ซึ่งต้องใช้การตรวจทางเคมีในห้องแล็บเพื่อยืนยันผล ระยะเวลาตรวจอาจนาน แต่ต้องไม่เกิน 30 วันตามระเบียบของสำนักงาน ป.ป.ส. ทั้งนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์สามารถทำได้โดยการใช้เครื่องมือ FT-IR portable การใช้เครื่องมือ Ramann Portable และ Color Test ซึ่งหากใช้เครื่องมือต่างๆ ร่วมกันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
เรื่องมาใหม่
- AIS ผนึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจไซเบอร์เปิด “มาตรการระเบิดสะพานโจร” บุกรวบจีนเทา พร้อมเครื่องส่ง SMS ปลอม
- เชียงราย จัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบกลไกเครือข่ายทีมสหวิชาชีพด้านเด็กและเยาวชน
- (คลิป) ตำรวจแม่จัน เชียงราย จับสึกพระเมาเหล้าขอปัจจัย
- เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน อนุโมทนา “ปิดเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยกองมู ( ลอยกระทงสวรรค์) ประจำปี 2567”
- “น้องโบว์ลิ่ง” คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดหนูน้อยนพมาศเมืองยวมใต้ ประจำปี 2567