วันพฤหัสบดี, 26 ธันวาคม 2567

(คลิป) 21 มิ.ย.นี้ วันเดียว 2 ปรากฏการณ์ ชม “สุริยุปราคาบางส่วน” ใน “วันครีษมายัน” พลาดอาจต้องรออีก 19 ปี

Social Share

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย 21 มิถุนายน 2563 นอกจากจะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” แล้วยังเป็นวัน “ครีษมายัน” เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูร้อนของ ประเทศทางซีกโลกเหนือ และเปลี่ยนสู่ฤดูหนาวของประเทศในซีกโลกใต้ หากพลาดชมปรากฎการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” ต้องรออีก 7 ปี ถึงจะได้ชมอีกครั้ง แต่หากจะรอให้เหตุการณ์ทั้งสองปรากฏพร้อมกันแบบนี้ คาดว่าอาจต้องรออีก 19 ปี

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า วันที่ 21 มิถุนายนนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” เหนือฟ้าเมืองไทย ช่วงเวลาประมาณ 13.00 – 16.10 น. สังเกตได้ทั่วประเทศ และยังตรงกับ “วันครีษมายัน” (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด สำหรับประเทศไทย ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 05.51 น. ตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึง 12 ชั่วโมง 56 นาที ส่งผลให้เป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุด นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลางวัน กลางคืน เกิดจากโลกหมุนรอบตัวเอง ในขณะเดียวกันโลกก็ โคจรรอบดวงอาทิตย์ แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแกนตั้งฉากระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้บริเวณ ต่าง ๆ ของโลกในแต่ละช่วงของปีได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน และเกิดเป็นฤดูกาล

ในระยะเวลา 1 ปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น – ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ วันครีษมายัน วันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน

วันที่ 21 มิถุนายน 2563 นับเป็นโอกาสดีที่จะได้สังเกตปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ทั้งสองในวันเดียวกัน ชมสุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทยในวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี หากพลาดชมปรากฎการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” ต้องรออีก 7 ปี ถึงจะได้ชมอีกครั้ง แต่หากจะรอให้เหตุการณ์ทั้งสองปรากฏพร้อมกันแบบนี้ คาดว่าอาจต้องรออีก 19 ปี สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน นอกจากจะสังเกตการณ์ได้เองผ่านอุปกรณ์กรองแสงอาทิตย์แล้ว ยังสามารถรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ จาก 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ภาคกลาง ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา และ ภาคใต้ ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ www.facebook.com/NARITpage ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.10 น.

Cr. งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)