วันเสาร์, 21 ธันวาคม 2567

อุตสาหกรรมแปรรูปจังหวัดน่าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม จัดงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปจังหวัดน่าน ที่เชียงใหม่ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ

Social Share

อุตสาหกรรมแปรรูปจังหวัดน่าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม จัดงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปจังหวัดน่าน ที่เชียงใหม่ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ

วันที่ 25 ต.ค. 67 นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิดงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปจังหวัดน่าน กิจกรรมทดสอบตลาด “NAN AGRO – INDUSTY INNOVATION” ภายใต้โครงการเกษตรปลอดภัยและมูลค่าสูง กิจกรรมหลักการแปรรูปสินค้าเกษตรด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม กิจกรรมย่อยพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจังหวัดน่าน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นางสาวนิลเนตร โลหะพจน์พิลาศ อุตสาหกรรมจังหวัดน่าน กล่าวรายงาน นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดน่าน เข้าร่วมกิจกรรมและออกบูธจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ของจังหวัดน่าน จัดขึ้นในห้วงระหว่างวันที่ 25 – 27 ตุลาคม 2567 ณ จริงใจมาร์เก็ต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ในกิจกรรมประกอบก้วยการออกบูธสินค้าผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป, ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร, กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สินค้าโอทอป ช้อป ชิม สินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ สมุนไพร ของใช้ อาหาร เครื่องดื่ม กว่า 36 รายการ และกิจกรรมส่งเสริมการขาย อาทิ การจำหน่ายสินค้านาทีทอง, การเล่นเกมส์แจกของรางวัล

นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า จากผลกระทบของอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย กิจกรรมในวันนี้จึงถือเป็นก้าวสำคคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดน่าน เพราะนอกจากจะมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังต้องเสริมสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ผ่านการแปรรูปและการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรจากจังหวัดน่าน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในจังหวัดน่าน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ได้พัฒนาความสามารถ รวมถึงทดลองตลาดใหม่ๆ เพื่อนำผลิตภัณฑ์คุณภาพออกสู่สังคม ในวันนี้เราได้เห็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และความตั้งใจของผู้ประกอบการ รวมถึงความร่วมมือจจากนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร แต่ยังเป็นการสร้างอาชีพ และส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่น

การจัดแสดงผลงานในวันนี้ยังเป็นโอกาสในการทดสอบตลาดและรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภค ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการด้านการเกษตรและนักลงทุนได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างความร่วมมือทางธุรกิจที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว