วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2567

(มีคลิป) กองทุนพัฒนาดิจิทัล (DE) สนับสนุนทุนวิจัย คณะแพทย์ มช. ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ลดช่องว่างทางสังคม ผ่านเทคโนโลยีอัจฉริยะ

Social Share

กองทุนพัฒนาดิจิทัล (DE) ตรวจเยี่ยมและติดตามผลงานด้านนวัตกรรมการแพทย์ คณะแพทย์ มช. สนับสนุนทุนนำเทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ลดช่องว่างทางสังคม ผ่านเทคโนโลยีอัจฉริยะ พร้อมเตรียมทุน 2 พันล้านบาทยกระดับทุกองค์กร ทุกมิติด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ประชนได้รับประโยชน์สูงสุด

วันนี้ (22 ธันวาคม 2565) นางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมคณะจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าเยี่ยมชมและติดตามผลงานนวัตกรรมด้านการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผศ.นพ.กฤษณ์ ขวัญเงิน รองคณบดีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผศ.ดร.ชาย รังสิยากูล ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.พญ.ศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม ผู้ช่วยคณบดีด้านนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมให้การต้อนรับและหารือแนวทางการต่อยอดผลงานนวัตกรรมการแพทย์ดิจิทัล เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี และก่อให้เกิดการพัฒนาดิจิทัลของประเทศที่ครอบคลุมในทุกด้าน

โดยกองทุนฯ ได้เยี่ยมชมและติดตามผลงานโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์ทางไกลเพื่อขยายการเข้าถึงการให้บริการประชาชน โครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน(5G District) จังหวัดเชียงใหม่ (โครงการ 5G smart health) และโครงการนวัตกรรมฟื้นฟูภาวะสมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสันด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะผ่านการกระตุ้นสมอง

นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการ บริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมในวันนี้ เพื่อติดตามผลทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทั้ง 3 โครงการของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นก็จะนำไปเป็นต้นแบบ เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี และก่อให้เกิดการพัฒนาดิจิทัลของประเทศที่ครอบคลุมในทุกด้าน ส่งผลให้เกิดการผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และลดช่องว่างทางสังคม ช่วยให้เกิดความรู้และทักษะดิจิทัลที่เหมาะสมกับบุคลากรทุกกลุ่ม และพัฒนากระบวนการทางาน และการให้บริการของภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล พร้อมกับการขยายผลของโครงการนี้ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา การวิจัยและพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ

นางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันทางกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เตรียมงบสนับสนุนกว่า 2,000 ล้านบาท สำหรับนักวิจัยหรือผู้ที่สนใจที่จะขอรับทุนสนับสนุนจากทางกองทุนพัฒนาดิจิทัล นำไปพัฒนาต่อยอดองค์กร ก็สามารถเข้ามาติดต่อสอบถามแนวทางได้ เพราะทางกองทุนฯ ต้องการยกระดับทุกมิติ เพื่อให้ทุกพื้นที่ได้นำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

 

ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำโครงการขนาดใหญ่ร่วมกัน 2 โครงการ คือ โครงการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์ทางไกลเพื่อขยายการเข้าถึงการให้บริการประชาชน และโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลอาศัยในเขตจังหวัดภาคเหนือ ส่วนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ดังนั้น จึงนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยเทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริงสามมิติด้วยรถพยาบาล อัจริยะ (AR technology with Smart ambulance) พร้อมบูรณาการแว่นตาอัจฉริยะ (AR consulting glasses) ผ่านเครือข่าย 5G ในการให้คำปรึกษาและรักษาผู้ป่วยบนรถ Smart ambulance แบบ real time ระหว่างโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลประจำอำเภอ ในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ร่วมโครงการ จำนวน 20 แห่ง ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่าน Web Application ได้อย่างครบวงจรโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

นพ.กฤษณ์ ขวัญเงิน รองคณบดีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยว่า โครงการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์ทางไกลเพื่อขยายการเข้าถึงการให้บริการประชาชน และโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ เป็นการบูรณาการระหว่างระบบการแพทย์ทางไกลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลประจำอำเภอในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน และมีการนำ AR technology และ 5G เทคโนโลยี มาเพิ่มประสิทธิภาพรถพยาบาลฉุกเฉิน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์บนรถพยาบาลฉุกเฉินสามารถปรึกษาและรักษาผู้ป่วยบนรถพยาบาลฉุกเฉินขณะส่งตัวผู้ป่วย ร่วมกับแพทย์เฉพาะทาง ที่ประจำอยู่ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ส่งผลให้โรคฉุกเฉินและโรควิกฤติ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดสมองตีบ เป็นต้น สามารถได้รับการรักษาได้ทันทีโดยแพทย์เฉพาะทางในแต่ละโรค ระหว่างส่งตัวผู้ป่วยทำให้ลดอัตราการตาย และภาวะแทรกซ้อน

โครงการนี้เหลือการพัฒนาด้านโปรแกรม ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3 เดือนในการพัฒนา เมื่อสำเร็จแล้วก็จะเป็นระบบต้นแบบที่ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด กล่าวคือการเข้ารับการรักษาภาวะฉุกเฉินใน โรงพยาบาลใดในจังหวัดเชียงใหม่ และหรือโรงพยาบาลในภาคเหนือตอนบน (ที่ร่วมโครงการ) ผู้ป่วยทุกท่านจะได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรค ผ่านระบบที่เชื่อมต่อกันแบบไร้รอยต่อ ซึ่งทำให้ผลการรักษาพยาบาลมีความปลอดภัยมากขึ้น

รศ.ดร.พญ.ศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม ผู้ช่วยคณบดีด้านนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า โครงการนวัตกรรมฟื้นฟูภาวะสมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสันด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะผ่านการกระตุ้นสมอง เกิดจากการวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่างคณะผู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ชื่อ “MoveAlong” หลังจากพบว่าในแต่ละปี จะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นปีละ 1,000 กว่าคน ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมช่วยเหลือการเดินในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีภาวะการเดินลำบาก ไม่สามารถช่วยได้ด้วยยา และการรักษาอื่นๆ ทีมนักวิจัยได้มีการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยเหลือการเดินที่สร้างเสียงจังหวะกระตุ้นการก้าวขาสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีปัญหาในการเดิน สามารถเชื่อมต่อระบบปฏิบัติการผ่าน Application บนสมาร์ทโฟน โดยมีการออกแบบอัลกอลิทึมให้สามารถบันทึกสัญญาณจากเซ็นเซอร์ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจจับสภาวะการเดินของผู้ป่วยเพื่อผลิตจังหวะเสียง (Tempo) ให้สอดคล้องกับจังหวะการเดินของผู้ป่วย ซึ่งสามารถปรับจังหวะการเดินเฉพาะตัวของผู้ป่วยได้ พกพาง่าย ติดตัวได้ตลอด

เบื้องต้นมีการใช้งานจริงกับผู้ป่วยที่ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคลินิกเอกชนชีวาแคร์ (ศูนย์เวชศาสตร์ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุ) เพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับปรุงพัฒนาระบบให้สะดวกต่อพฤติกรรมการใช้งานของผู้ป่วยได้มากที่สุด ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีนี้ก็จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับระบบการให้บริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามยุทธศาสตร์ในการมุ่งสู่การเป็น Digital Hospital เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ป่วยและประชาชนในอนาคต