เทศบาลนครเชียงใหม่ ใช้งบ 22 ล้านบาท ปรับปรุง “คลองแม่ข่า” พัฒนาสองฝั่งคลอง ยาว 750 เมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยว สัมผัสกลิ่นอายชีวิตชุมชน
18 พฤศจิกายน 2565 : จ.เชียงใหม่ – น้ำแม่ข่า หรือ คลองแม่ข่า แหล่งน้ำสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ที่ได้รับการพัฒนา ปรับปรุง ตามโครงการก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียของสองฝั่งคลอง พร้อมปรับภูมิทัศน์ โดยเริ่มดำเนินการเฟสแรกที่ ถนนระแกง – ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) พร้อมชูแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คลองแม่ข่ากลับมาเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชาวเชียงใหม่อีกครั้ง โดยให้ความสำคัญกับการบำบัดน้ำ ควบคู่กับการทำให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ นำโดย นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายณภัทร ประเสริฐดี ผู้อำนวยการสำนักช่าง และ รศ.ชูโชค อายุพงศ์ นักวิชาการศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมพูดคุยให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน จ.เชียงใหม่ ถึงความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ในการปรับปรุงคลองแม่ข่า รวมไปถึงภาพรวมการพัฒนาคลองแม่ข่า ที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งหมดในจังหวัดเชียงใหม่ และการให้ความสำคัญในเรื่องของระบบบำบัดน้ำ ที่จะทำให้ระบบนิเวศน์ ของคลองแม่ข่า กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
น้ำแม่ข่า เป็นคลองน้ำสายหลักของชาวเชียงใหม่ ที่รู้จักกันดีในชื่อ “คลองแม่ข่า” มีต้นน้ำเริ่มจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นคลองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยพญามังราย โดยเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวเชียงใหม่ ทั้งเป็นเส้นทางสัญจร เป็นคูเมืองชั้นนอก และยังเป็นทางระบายน้ำ จากเดิม “คลองแม่ข่า” มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร และสร้างความชุ่มชื้นให้กับคนเชียงใหม่ แต่เมื่อความเจริญของเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้คลองแม่ข่าถูกบุกรุกและมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองโดยไม่ผ่านการบำบัด ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียมานานหลายสิบปี
เทศบาลนครเชียงใหม่จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียของสองฝั่งคลอง พร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1 ถนนระแกง – ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) ระยะทางประมาณ 750 เมตร กว้าง 10 เมตร เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ มีผู้อาศัยทั้งหมด 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนหัวฝาย ชุมชนกำแพงงาม และชุมชนฟ้าใหม่ มีการบุกรุกพื้นที่ 100 กว่าหลังคาเรือน บางจุดมีพื้นที่ของคลองแม่ข่ากว้างไม่ถึง 3 เมตร และพื้นที่แห่งนี้ก็เป็นพื้นที่ราชพัสดุ รวมถึงพื้นที่โบราณสถานบางส่วน จึงได้มีการประชุมและวางแผน พร้อมตั้งงบประมาณไว้ จำนวน 22 ล้านบาท และได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน อาทิ การออกแบบของกลุ่มสถาปนิกในพื้นที่ มีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการมาร่วมหาวิธีจัดการเรื่องระบบน้ำเสีย สร้างท่อรองรับน้ำทิ้งเพื่อส่งต่อไปบำบัดที่โรงงานบำบัดน้ำเสีย มีการกวดขันเรื่องการปล่อยน้ำลงในคลองแม่ข่าอย่างเคร่งครัด การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิทัศน์และพื้นที่สีเขียว ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนที่มีรายได้น้อย รวมไปถึงการวางแผนเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องย้ายออกจากชุมชน และที่สำคัญคือ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการใช้พื้นที่คลองแม่ข่า เพื่อให้ชุมชนได้ดูแลบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นระบบระเบียบด้วยตนเอง
ปัจจุบัน “คลองแม่ข่า” กลับมาสร้างชีวิต เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงให้กับชุมชนสองฝั่งคลอง พัฒนาเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มชาวบ้านในชุมชนได้พร้อมใจกันเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ ให้มาสัมผัสกลิ่นอายชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านสองฝั่งคลอง พร้อมสร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ สร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้กับชุมชน และเตรียมผลักดันให้กลายเป็นสถานที่เดินออกกำลังกายสองฝั่งคลอง ในอนาคตเตรียมต่อยอดพัฒนาคลองแม่ข่าให้ครอบคลุมความยาวทั้งหมด 4 กิโลเมตร ตั้งแต่เทศบาลนครเชียงใหม่ จนถึงคลองแม่ข่าถนนสายมหิดล เป็นการพัฒนาคลองแม่ข่าในแต่ละชุมชนให้เกิดความสวยงาม และจุดเด่นของแต่ละชุมชนก็จะแตกต่างกันออกไป ให้เป็นการท่องเที่ยวที่หลากหลาย สามารถเดินเที่ยวตลอดเส้นทางคลองแม่ข่าได้ในอนาคต
เรื่องมาใหม่
- กระหึ่มริมน้ำปาย นักท่องเที่ยวจัดปาร์ตี้ อวยพรวันคริสต์มาส สุดเหวี่ยง
- ปรามเมาแล้วขับ!! ตร.แม่สะเรียง กำชับมาตราการคุมเข้ม บังคับใช้กฎหมาย เน้นหนัก 10 ข้อหาลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
- แม่สะเรียง ปล่อยแถวกวาดล้างปราบปรามอาชญากรรมในห้วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ 2568
- เชียงราย สุดสลด! หนุ่มเครียดเมียขอแยกทางไปมีครอบครัวใหม่ จับลูก 3 คนแขวนคอพร้อมตัวเอง
- เชียงราย บุกจับเครือข่ายเว็บพนันรวบ 8 แอดมิน พบมีเงินหมุนเวียนหลายร้อยล้านบาท