วันพฤหัสบดี, 21 พฤศจิกายน 2567

แม่ฮ่องสอนโมเดล นำร่องรูปแบบ “ถนนดิจิทัล” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในถิ่นทุรกันดาร

Social Share

แม่ฮ่องสอนโมเดล นำร่องรูปแบบ “ถนนดิจิทัล” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในถิ่นทุรกันดาร

วันที่ 21 กันยายน 2567 ที่ศูนย์ประสานงานเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ในเงาอย่างยั่งยืน บ้านนาดอย หมู่ที่ 9 ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดการเสวนานำร่องเปิด แม่ฮ่องสอนโมเดลรูปแบบถนนดิจิทัลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับทาง นายกรเอก แสงแก้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง (องค์การมหาชน) ร่วมเสวนาใน มุมมองการพัฒนาพื้นที่ ข้อจำกัด ศักยภาพ การขยายผล ข้อเสนอแนะเพื่อต่อยอดการพัฒนา

นอกจากนั้นยังพิธีลงนามความร่วมมือและบันทึกข้อตกลงร่วมกันของภาคภาคีเครือข่ายโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดลรูปแบบถนนดิจิทัลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในถิ่นทรุกันดาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดตาก โดย โทรคมนาคมจังหวัดแม่ฮ่องสอน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นอนุกรรมการแผนพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน พ.ศ.ศ. 2566 – 2570 ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สวด และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงแบบ โครงการหลวง กรมป่าไม้ , กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ ได้ร่วมมือในการแก้โขปัญหาในรูปแบบถนนดิจิทัลเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตลดความเหลื่อมล้ำด้านการสื่อสารชุมชนในถิ่นทุรกันดาร โดยมี นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายอำเภอสบเมย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และผู้นำชุมชนร่วมในการเสวนาดังกล่าว

สำหรับแม่ฮ่องสอนโมเดลรูปแบบถนนดิจิทัลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการสื่อสาร และสอดรับกับแผนพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน รูปแบบถนนดิจิทัล ให้บริการประชาชน และหน่วยงานของรัฐ ในพื้นที่ดังกล่าว ในการดำเนินงานขยายระบบสื่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต การดำเนินงานที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 65 ถึง ปี 67 ได้มีการดำเนินงานพร้อมให้บริการแล้ว จำนวน 5 เฟส และ เฟสที่ 6 จะดำเนินการต่อไปยังพื้นที่รอยต่อ บ้านเมโลดี จ.เชียงใหม่ โดยอาศัยการพาดผ่านสายอินเตอร์เนตไฟเบอร์ออฟติคความเร็วสูง โดยอาศัยการพาดสายจากต้นไม้ต้นหนึ่ง ไปยังอีกต้นหนึ่ง ตลอดระยะทาง 52 กิโลเมตร สู่หมู่บ้านในเงา และ รอยต่อ หมู่บ้าน 3 จังหวัด แม่ฮ่องสอน – เชียงใหม่ และ จ.ตาก

ทั้งนี้ ความสำคัญของการให้บริการโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อสังคมอย่างทั่วถึง จะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ผ่านโลกดิจิทัล เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้การสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนชายชอบในถิ่นทุรกันดาร โอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และคณะยังได้เดินทางไปติดตามและเยี่ยมชมการดำเนินโครงการฯที่บ้านสบโขง โรงเรียนล่องแพวิทยา และสุขศาลาพระราชทาน เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดลรูปแบบถนนดิจิทัลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูงแบบโครงการหลวงพื้นที่บ้านสบโขง บ้านผาแดง บ้านแม่หลองใต้ บ้านเมโลดี และบ้านอิวิโจ รวมทั้งยังได้ติดตามการความก้าวหน้าของโครงการฯที่บ้านหาด บ้านอุมโล๊ะเหนือ ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

Cr. สุกัลยา บัวงาม