วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน เน้นย้ำ อ.แม่สะเรียงต้องเร่งแก้พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ชลประทานเตรียมงบ 50 ล้านช่วยแก้ปัญหาลำน้ำยวม

Social Share

ผู้ว่าแม่ฮ่องสอน เน้นย้ำ อ.แม่สะเรียง ต้องแก้ไขพื้นที่ประสบวิกฤตซ้ำซากในหมู่บ้านก่อน หลังลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ด้านชลประทานเตรียมงบ 50 ล้าน เร่งแก้ปัญหาลำน้ำยวม

วันที่ 12 มิถุนายน 2564 นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมคณะตรวจติดตามการเตรียมความศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ระดับอำเภอ ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในวันนี้ 11 มิถุนายน 2564 ได้เข้าพบปะกับศูนย์ฯของอำเภอ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลในพื้นที่ที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง หยิบยกบทเรียนที่เป็นภัยหนัก มาเป็นกรณีศึกษา เพื่อเตรียมแผนรองรับภัยพิบัติขั้นสูงสุด ในการนี้ มีส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำชุมชนให้ข้อมูลเบื้องต้นของสภาพพื้นที่ การเตรียมความพร้อม จุดอ่อน จุดเปราะบาง พื้นที่สุ่มเสี่ยง จุดวิกฤตที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ต้องได้รับการแก้ไข ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า เรื่องของภัยธรรมชาติตามฤดูกาล ต้องแก้ไขตามระยะ ต้น กลาง และระยะฟื้นฟู เบื้องต้นกำชับการบูรณาการทุกภาคส่วน เตรียมแผนป้องกันให้เกิดความเสียหายน้อยกว่าในปีที่ผ่านมา ให้จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกล บุคลากร ป้องกันการเผชิญเหตุให้พร้อม รวมทั้งการฟื้นฟูเยียวยาในระยะ 2 เดือนข้างหน้า

เนื่องด้วย แม่ฮ่องสอน สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน บางพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน ส่งผลให้พื้นที่ราบมักจะได้รับผลกระทบแบบเฉียบพลัน ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นเป้าหมายที่ต้องวางแผนร่วมกัน ช่วยกันลดความสูญเสียให้มากที่สุด ประกอบกับปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าฝนจะมากกว่าในรอบปีที่ผ่านมา มวลน้ำมากกว่าเดิม 5-10% ฝนจะหนักที่สุดในเดือนสิงหาคม จึงต้องมีแผนรับมือวิถีธรรมชาติที่นอกเหนือการควบคุม เพื่อให้สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือป้องกัน บำบัดฟื้นฟู ในสถานการณ์ที่ผ่านมา ในช่วงหน้าร้อนมีความเสียหายน้อยกว่าในวงรอบปีที่ผ่านมา ส่วนประเด็นปัญหาใหญ่ คือ ในพื้นที่ต้องการขุดลอกแม่น้ำยวม ระยะทาง 10 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนหนึ่ง อยู่ในการดูแลและบรรจุอยู่ในแผนของกรมชลประทาน ปี 65 ประมาณ 2.5 กิโลเมตร จะมีการบูรณะฝายครั้งใหญ่ ใช้งบประมาณ 30 ล้าน การขุดลอดหัว-ท้ายฝาย อีก 20 ล้านบาท รวม 50 ล้านบาท ส่วนในพื้นที่ที่เหลือ 7.5 กิโลเมตร ได้มอบหมายจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประสานความร่วมมือกับกรมเจ้าท่า ดำเนินการสำรวจออกแบบ นำไปสู่การจัดสรรงบประมาณต่อไป เพื่อให้ในระยะยาวได้รับการแก้ไข โดยต้องแก้ไขปัญหาจุดวิกฤตก่อน ที่ ต.แม่คง ระยะทางประมาณ 700 เมตร ได้มอบหมายให้ อบต.แม่คงดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ มีแผนการจัดทำเหมือง ฝาย เพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง เป็นอีกแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับอำเภอแม่สะเรียง

ส่วนประเด็นต้นไม้ล้มใส่เสาไฟฟ้า ในหน้าฝน ภาวะสุ่มเสี่ยงจากต้นไม้ยืนต้นตาย ต้นไม้ลักษณะฐานรากถูกกัดเซาะ ต้องมีการสำรวจเพื่อตัดโค่นเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องได้รับการอนุญาตที่ถูกต้อง ด้านนายสมจินต์ เนตรประดิษฐ์ หัวหน้า นปพ.แม่สะเรียง กล่าวว่า หากชาวบ้านพบไม้ล้มในหมู้บ้าน ให้แต่ละหมู่บ้านสำรวจ แล้วแจ้ง นปพ.ในอำเภอของท่าน นปพ.ในแต่ละเภอจะดำเนินการให้โดยยื่นที่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ตามขั้นตอน ระเบียบที่ถูกต้องของราชการ

จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมคณะ ลงพื้นที่สะพานบ้านท่าข้าม กับสะพานบ้านหนองป่าแขม ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติซ้ำซาก พร้อมให้แนวทางแก้ไขเบื้องต้นกับหน่วยงานในพื้นที่ หลังจากนี้ จะเดินทางลงพื้นที่ทุกอำเภอ โดยอำเภอแม่สะเรียง เป็นอำเภอที่ 5 และในวันที่ 14 มิ.ย. 64 ลงพื้นที่อำเภอแม่ลาน้อย ในวันที่ 15 มิ.ย. 64 ลงพื้นที่อำเภอขุนยวม