วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

ชาวบ้านยุติข้อคัดค้าน พอใจมาตราการควบคุมดูแลโรงงานบุกของภาครัฐ แก้ปัญหาลักลอบนำบุกออกนอกพื้นที่

Social Share

อำเภอแม่สะเรียง ร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยน หารือแนวทางการอยู่ร่วมกันในชุมชนระหว่างโรงงานแปรรูปบุกและประชาชนบ้านแม่กองแป หมู่ที่ 9 ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันที่ 25 สิงหาคม 2567 ณ ศาลาประชาคมบ้านแม่กองแป หมู่ที่ 9 ตำบลแม่ยวม นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง ได้มอบหมายให้ นายวีกิจ เจ้าดูรี ปลัดอำเภอ เข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยน หารือแนวทางการอยู่ร่วมกันในชุมชนระหว่างโรงงานแปรรูปบุกและประชาชน โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่ วม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เทศบาลตำบลแม่ยวม กำนันตำบลแม่ยวม และผู้ใหญ่บ้านแม่กองแป และผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปบุก

การประชุมดังกล่าว สืบเนื่องจากการที่ราษฎรหมู่บ้านแม่กองแป หมู่ที่ 9 ตำบลแม่ยวม ได้ยื่นเรื่องต่อศูนย์ดำรงธรรมอำเภอแม่สะเรียง เพื่อขอคัดค้านการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปบุกของบริษัท หลง หวัง จำกัด ที่มาตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้าน โดยไม่มีการแจ้งให้ชาวบ้านทราบ ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลว่าโรงงานฯ ดังกล่าวจะสร้างมลพิษทางน้ำ ทางอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ได้ ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอแม่สะเรียง จึงส่งเรื่องร้องเรียนให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทราบและพิจารณาตรวจสอบ

รองเทศบาลตำบลแม่ยวม แจ้งว่าเทศบาลตำบลแม่ยวม มีหน้าที่กำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่กฎหมาย พรบ.ควบคุมอาคาร และ พรบ.สาธารณสุข ที่จะต้องเข้ามาควบคุมและตรวจสอบเพื่อไม่ให้โรงงานทำผิดกฎหมายและสร้างมลพิษต่อชุมชน หากได้ท่านใดได้รับผลกระทบสามารถแจ้งเทศบาลให้ทำการตรวจสอบได้

ผู้ประกอบการ แจ้งให้ที่ประชุมว่า ต้องขอโทษชุมชนที่ละเลยขั้นนตอนในการพูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชน แต่จะดำเนินกิจการโรงงานมุ่งเน้นที่จะสร้างงานให้กับคนในกับชุมชนหมู่บ้านแม่กองแปก่อนและยินดีให้ทุกคนสามารถเข้าตรวจสอบได้ตลอดเวลา

เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอนแจ้งที่ประชุมว่า การตั้งโรงงานตามกฎหมายนั้น เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า การดำเนินกิจการของโรงงาน ผู้ประกอบการจะต้องถูกควบคุมตรวจสอบ ให้ดำเนินการเป็นตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่โรงงานจะถูกตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และคนงานจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แรงงาน

ชาวบ้าน รับทราบและพอใจในมาตรการของหน่วยงานที่กำหนดให้ผู้ประกอบการปฎิบัติ และชาวบ้านจะติดตามการประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะเกิดความมั่นใจ หลังจากการประชุม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนชาวบ้าน ได้เข้าตรวจดูการทำงานของเครื่องจักร สายพานการผลิต และระบบการบำบัดน้ำเสียของโรงงาน การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปบุก อบแห้ง จะส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน และเกษตรกร ในการรับซื้อผลผลิตหัวบุกให้เกษตรกรในพื้นที่ใน 3 อำเภอ ต่อไป

Cr. สุกัลยา บัวงาม