วันจันทร์, 23 ธันวาคม 2567

แม่ฮ่องสอนอ่วม ฝนตกหนัก ทำน้ำท่วม 4 ตำบล เจ้าหน้าที่เข้าสำรวจเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือ

Social Share

อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ประสบเหตุอุทกภัยอ่วม หลังตรวจสอบและเตรียมให้การช่วยเหลือราษฎร ในขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำปายได้เริ่มลดลงแต่ก็ยังสูงกว่าภาวะวิกฤติ ขณะที่พยากรณ์อากาศล่วงหน้ารายสัปดาห์เตือนรับมือฝนหนักไปจนถึง 22 สิงหาคมนี้

วันที่ 18 สิงหาคม 2567 นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เหตุอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ตนได้มอบหมายให้ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบ นำกำลังพลสมาชิก อส. ร้อย อส.อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 2 สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามสถานการณ์ระดับน้ำ และปริมาณน้ำฝนอย่างใกล้ชิด ระดับน้ำในพื้นที่ตำบลห้วยผา ตำบลปางหมู ตำบลผาบ่อง และตำบลห้วยโป่ง ทั้งนี้อำเภอฯ ได้ดำเนินการแจ้งเตือนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ให้เตรียมการป้องกัน และขนย้ายสิ่งของ หรือสัตว์เลี้ยง ให้ไปอยู่ในพื้นที่สูง นอกจากนั้นยังได้มอบหมายให้ อบต.ในพื้นที่ เร่งดำเนินการสำรวจความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศตั้งแต่วันนี้ – 22 สิงหาคม พ.ศ. 2567 (พยากรณ์อากาศล่วงหน้า) ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศลาว เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง ในขณะที่ในช่วงวันที่ 16 – 17 ส.ค. 67 จะมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่

จึงขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง

สำหรับพื้นที่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จากสถานการณ์น้ำท่วมล้นตลิ่งในพื้นที่ดังนี้ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2567 ได้มีฝนตกหนักตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ในทุกพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่อำเภอปาย และอำเภอปางมะผ้า ทำให้ระดับน้ำของแม่น้ำปายเพิ่มสูงขึ้น และลำห้วยสาขาต่าง ๆ ไหลหลากลงสมทบกับแม่น้ำปาย ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปายเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน รวม 4 ตำบล 19 หมู่บ้าน ในพื้นที่

ตำบลห้วยผา 6 หมู่บ้าน

  • บ้านห้วยผา ม.1 น้ำเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร (นาข้าว) ได้รับความเสียหาย
  • บ้านห้วยผึ้ง หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยผา เกิดเหตุดินสไลด์ ต้นไม้ล้มปิดทับเส้นทางคมนาคม ทางขึ้นไปจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องทางบ้านห้วยผึ้งทำให้รถส่งสินค้าจุดผ่อนปรนสินค้าชายแดนทุกชนิด ไม่สามารถสัญจรไป – มาได้ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้เข้าสนับสนุนการช่วยเหลือโดยประสาน อบต.ห้วยผา และผู้ประกอบการฯ นำเครื่องจักร (รถไถ) ดำเนินการผิวจราจรเส้นทางดังกล่าวข้างต้น
  • บ้านนาปลาจาด หมู่ที่ 4 น้ำในลำห้วยต่างๆ ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร (นาข้าว) ได้รับความเสียหาย
  • บ้านทุ่งมะส้าน หมู่ที่ 5 น้ำในลำห้วยต่างๆ ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร (นาข้าว) ได้รับความเสียหาย
  • บ้านแม่สุยะใหม่ หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยผา ระดับน้ำของแม่น้ำของ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เข้าท่วมบริเวณคอสะพาน และถนนเข้าวัดป่าถ้ำวัว ผู้ใหญ่บ้าน ได้ประสาน อบต.ห้วยผา ช่วยกันซ่อมแซมคอสะพานเสร็จเรียบร้อย จำนวน 1 จุด คงค้างอีก 1 จุด เนื่องจากกระแสน้ำแรงมาก
  • บ้านห้วยส้านใหม่ หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยผา ระดับน้ำของแม่น้ำของ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร (นาข้าว) ถนนคอนกรีตเข้าหมู่บ้านถูกน้ำกัดเซาะได้รับความเสียหาย

ตำบลผาบ่อง 6 หมู่บ้าน

  • บ้านห้วยเดื่อ หมู่ที่ 3 ตำบลผาบ่อง แม่น้ำปายได้เพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง เข้าท่วมบริเวณจุดท่าเทียบเรือ เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร (นาข้าว, ข้าวโพด และงา) ของประชาชนในหมู่บ้านได้รับความเสียหาย
  • บ้านท่าโป่งแดง หมู่ที่ 5 ตำบลผาบ่อง แม่น้ำปายได้เพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง เข้าท่วมบริเวณจุดท่าเทียบเรือ,สะพาน, เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร (สวนข้าวโพดและพืชผัก) ของประชาชนในหมู่บ้าน และแม่น้ำปายล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ของศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ (ท่าโป่งแดง)
  • บ้านห้วยโป่งกาน หมู่ที่ 6 ตำบลผาบ่อง น้ำป่าไหลหลากเข้ากัดเซาะทำให้ถนนภายในหมู่บ้าน ฝายและพื้นที่การเกษตร (นาข้าว) ได้รับความเสียหาย ทำให้รถยนต์ทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้
  • บ้านห้วยแก้ว หมู่ที่ 7 ตำบลผาบ่อง ฝนตกหนักสะสมกันหลายวัน เป็นเหตุให้ดินสไลด์ปิดทับเส้นทางคมนาคม และมีไม้ใหญ่ล้มขวางทางถนนเข้าหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการได้ช่วยกันทำการตัดไม้ที่ล้มขวางทางถนนเป็นที่เรียบร้อย
  • บ้านผาบ่องเหนือ (หย่อมบ้านแม่จ๋า) หมู่ที่ 12 ตำบลผาบ่อง เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำป่าเข้าบ้านเรือนประชาชน จำนวน 4 หลัง และน้ำจากลำห้วยเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร (นาข้าว) ของประชาชน
  • บ้านห้วยปูแกง หมู่บ้านท่องเที่ยวกะเหรี่ยงคอยาว เกิดน้ำท่วมได้เอ่อล้นท่วมห้องครัว ห้องน้ำที่โรงเรียนชุมชนห้วยปูแกง ชาว
  • บ้านผู้นำจิตอาสาในหมู่บ้านจึงช่วยกันขนข้าวของขึ้นพื้นที่สูง

ตำบลปางหมู 4 หมู่บ้าน

  • บ้านกุงไม้สัก หมู่ที่ 2 ตำบลปางหมู น้ำแม่สะงา ได้ล้นตลิ่ง เข้าท่วมพื้นที่เกษตร (นาข้าว) บริเวณสะพานซูตองเป้ น้ำได้ท่วมขังมาเป็นเวลา 17 วัน
  • บ้านทุ่งกองมู หมู่ที่ 3 ตำบลปางหมู ระดับน้ำในแม่น้ำปาย ได้เพิ่มระดับสูงขึ้น เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร (นาข้าว, สวนงา) เป็นวงกว้าง ได้รับความเสียหาย และระดับน้ำของแม่น้ำปาย เพิ่มสูงขึ้นจนไปถึงทาง
    หลวงแผ่นดินหมายเลข 128 จำนวน ครึ่งเลน บริเวณสะพานขามแม่น้ำปาย
  • บ้านสบป่อง หมู่ที่ 6 ตำบลปางหมู ระดับน้ำในแม่น้ำปาย ได้เพิ่มระดับสูงขึ้น เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร (นาข้าว) และบริเวณท่าทราย
  • บ้านสบสอย หมู่ที่ 7 ตำบลปางหมู ระดับน้ำในแม่น้ำปาย ได้เพิ่มระดับสูงขึ้น เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร (นาข้าว, สวนผัก) เป็นวงกว้าง ได้รับความเสียหาย

ตำบลห้วยโป่ง 3 หมู่บ้าน

  • บ้านป่าลาน หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยโป่ง มีฝนตกหนักอย่างต่อเนี่อง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 23.30 ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร (ไร่, นาข้าว) ของชาวบ้านทำให้เสียหายเป็นจำนวนมาก
  • บ้านไม้ฮุง หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยโป่ง มีฝนตกหนักอย่างต่อเนี่อง ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร (ไร่, นาข้าว) ของชาวบ้านทำให้เสียหายเป็นจำนวนมาก
  • บ้านไม้ซางหนาม หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยโป่ง มีฝนตกหนักอย่างต่อเนี่อง ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร (ไร่, นาข้าว) ของชาวบ้านทำให้เสียหายเป็นจำนวนมาก

สถานีอุทกวิทยา กรมชลประทาน บ้านท่าโป่งแดง ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ได้รายงานผลการตรวจวัดปริมาณน้ำในแม่น้ำปาย ล่าสุดวันนี้ ( 18 ส.ค.67 ) เมื่อเวลา 09.00 น.ปริมาณระดับน้ำในแม่น้ำปาย วัดได้ 3.45 เมตร โดยพบว่าปริมาณได้เริ่มลดลงอย่างช้า ๆ และยังอยู่ในระดับเกินวิกฤติ โดยระดับวิกฤติอยู่ที่ 2.75 เมตร

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล