วันอังคาร, 24 ธันวาคม 2567

จังหวัดแม่ฮ่องสอน แจ้งเตือน ส่วนราชการและภาคีเครือข่ายในจังหวัด ให้พร้อมรับมือฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากเฉียบพลัน

Social Share

จังหวัดแม่ฮ่องสอน แจ้งเตือน ส่วนราชการและภาคีเครือข่ายในจังหวัด ให้พร้อมรับมือฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากเฉียบพลัน รวมไปถึงดินภูเขาข้างทางสไลด์ลงปิดทับเส้นทาง ในห้วงระหว่างวันที่ 14-17 กรกฎาคม 2567 นี้

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้รับหนังสือแจ้งเตือนเรื่องฝนตกหนักจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ได้รับหนังสือประกาศเตือนภัยจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คาดการณ์สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 14 – 17 กรกฎาคม 2567 ร่องมรสุมกำลังแรงจะพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง สทนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน ช่วงวันที่ 15 – 20 กรกฎาคม 2567

จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ที่จะมีฝนตกอย่างหนักได้แก่ พื้นที่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน , อำเภอ ปางมะผ้า , อำเภอปาย , อำเภอขุนยวม , อำเภอแม่ลาน้อย , อำเภอแม่สะเรียง และ อำเภอสบเมย สรุปจะมีฝนตกทั้ง 7 อำเภอของแม่ฮ่องสอน ขอให้นายอำเภอทุกอำเภอแจ้งเตือนทุกพื้นที่เตรียมรับมือตลอด 24 ชั่วโมง ให้ อปท.ทุกแห่ง เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์กู้ภัย ยานพาหนะ เครื่องมือสื่อสาร และดำรงการสื่อสารตลอด 24 ชั่วโมง โรงพยาบาล และสำนักงานสาธารณสุข รพสต. ทุกแห่งเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ ทั้งนี้ให้ปฏิบัติตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษาชีวิตของประชาชน

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ เฝ้าระวัง พื้นที่ที่ปริมาณฝนตั้งแต่ 50 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชม. และ พื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชม. ให้ชุดปฏิบัติการในระดับต่างๆเข้าพื้นที่ทันที ซึ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา บางจุดเป็นพื้นที่เกิดเหตุซ้ำซาก ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงอาจจะไม่ถึง 90 มิลลิเมตร แต่จะต้องเฝ้าระวังและดูปริมาณฝนสะสมอย่างต่อเนื่อง โดยในกรณีเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากพื้นที่บ้านเมืองแพม ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า เมื่อคืนวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 นั้น ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง ไม่ถึง 90 มิลลิเมตร แต่ถ้าดูฝนสะสมที่ตกปริมาณน้อยแต่ตกสะสมทุกวัน ทำให้ชั้นดินอุ้มน้ำไม่ไหว จึงเกิดเหตุดังกล่าว ดังนั้นพื้นที่ต้องมีการเฝ้าระวังในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ช่วยเหลือได้ทันที ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

อนึ่ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก เชียงเชียงใหม่บางส่วน มีสภาพเป็นพื้นที่ลาดชันลาดเชิงเขา เสี่ยงต่อน้ำป่าไหลหลากฉับพลัน ฝนที่ตกสะสมทำให้ชั้นดินอุ้มน้ำเต็มที่ ดังนั้นการเฝ้าระวังจึงจำเป็นต้องดูปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ 50 มิลลิเมตร ขึ้นไป เพื่อเตรียมการรับมือเผื่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเมื่อปริมาณฝนถึง 90 มิลลิเมตร เน้นเฝ้าระวังพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่เกิดเหตุซ้ำซาก เพื่อลดผลกระทบที่รุนแรง

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล