วันพุธ, 25 ธันวาคม 2567

ปศุสัตว์แม่ฮ่องสอน เตรียมพร้อมหากมีการปลดล็อค อนุญาตนำเข้าโค – กระบือนอกประเทศ แต่ต้องรอความชัดเจนจากกรมปศุสัตว์อีกครั้ง

Social Share

ปศุสัตว์แม่ฮ่องสอน เตรียมพร้อมหากมีการปลดล็อค อนุญาตนำเข้าโค – กระบือนอกประเทศ แต่ต้องรอความชัดเจนจากกรมปศุสัตว์อีกครั้ง

จากการที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโค -กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (Beef Board) ครั้งที่ 2/ 2567 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.67 ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาปลดล็อกการนำเข้าโคเนื้อ- กระบือจากประเทศเมียนมา และจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดชายแดนอีกจังหวัดหนึ่งที่มีการนำเข้าโค กระบือ จากประเทศเมียนมา หลังจากกรมปศุสัตว์ได้ชะลอการนำเข้า ทำให้ผู้ประกอบการค้าโค กระบือ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก แต่เมื่อทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการปลดล็อกให้นำเข้าโค กระบือ ทำให้เกษตรกร ผู้ประกอบการมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 67 นายสมพงษ์ พิพัฒพงค์ชัย ปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2565-2566 มีการนำเข้าโคกระบือจากประเทศเมียนมาเข้ามาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณ 27,500 ตัว เฉลี่ยเดือนละประมาณ 4,500 ตัว หลังจากกรมปศุสัตว์ได้ประกาศชลอการนำเข้าเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 67 จนถึงปัจจุบัน 23 พ.ค.67 ยังไม่มีโค -กระบือจากประเทศเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอนแต่อย่างใด และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ดำเนินการป้องกันการลักลอบนำเข้าโค กระบือ และควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ในพื้นที่ตามระเบียบและกฏเกณฑ์ที่กรมปศุสัตว์สั่งการมาโดยตลอด ในช่วงนี้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่พบโรคปากเท้าเปื่อยในโค- กระบือ เนื่องจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้บูรณาการป้องกันร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยในการรณรงค์ป้องกันในการฉีดวัคซีนโรคปากเท้าเปื่อยให้โค- กระบือเกษตรกรในพื้นที่ ปีละ 2 ครั้ง

หลังจากทราบว่าที่ประชุมกระทรวงเกษตรจะปลดล็อกการชลอการนำเข้าโค- กระบือ จากนอกประเทศ ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งเรื่องคอกกักกันสัตว์ การตรวจติดตามโรค จัดทำกำหนดกฏเกณฑ์และเงื่อนไขในการนำเข้าโค-กระบืออย่างละเอียดและรอบครอบ และจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบความพร้อมแต่ละช่องทางนำเข้าเพื่อลดผลกระทบผู้เลี้ยงโคภายในประเทศและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการการค้าชายแดนด้านโค- กระบือในพื้นที่จังหวัดชายแดน แต่สิ่งที่สำคัญ ต้องรอความชัดเจนจากกรมปศุสัตว์ในการนำเข้าอีกครั้ง

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล