วันพฤหัสบดี, 26 ธันวาคม 2567

สะท้อนชีวิต “คนดับไฟ” นอนกลางดินกินกลางป่า 4 คืน 5 วัน จับตาไฟป่ากลุ่มใหญ่บ้านแม่ก๋อน เร่งทำแนวเฝ้าระวังไฟป่าลุกลามใจกลางป่าสาละวิน

Social Share

สะท้อนชีวิต “คนดับไฟ” นอนกลางดินกินกลางป่า 4 คืน 5 วัน จับตาไฟป่ากลุ่มใหญ่บ้านแม่ก๋อน เร่งทำแนวเฝ้าระวังไฟป่าลุกลามใจกลางป่าสาละวิน

วันที่ 29 มีนาคม 2567 ภาพสะท้อนการทำงานภารกิจดับไฟของเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องกินและอาศัยอยู่ในป่า ในห้วงของฤดูหมอกควันและไฟป่า เหยี่ยวไฟ หรือ เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ส่วนราชการต่างๆ ท้องถิ่น รวมถึง ภาคีเครือข่าย อส.อส. ที่ต้องระดมกำลังกันในการป้องกันและดับไฟป่าในทุกๆพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อน ในขณะที่สถานการณ์ไฟป่าแนวโน้มรุนแรง เจ้าหน้าที่เหล่านี้แทบไม่มีเวลาได้พักผ่อน ดับไฟกันทั้งวันเกือบทั้งคืน ก็ว่าได้

เช่นเดียวกับในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติสาละวิน นายลิขิต ไหวพรหม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวิน ได้เปิดเผยถึงการเข้าพื้นที่ในการสกัดดับไฟในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวินในห้วง ที่ผ่านมาต้องกินนอนกันในป่า ถึง 4 คืน 5 วัน โดยจุดความร้อนเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมบริเวณพื้นที่บ้านแม่ก๋อน เจ้าหน้าที่บูรณาการเข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม เสร็จสิ้นภารกิจ เมื่อ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ต้องทำงานดับไฟกันอย่างข้ามวันข้ามคืน อาศัยกินอาศัยนอนตามลำห้วยในป่า เพื่อดับไฟกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ บ้านแม่ก๋อน ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งปรากฏจุดความร้อนสะสม ตั้งแต่วันที่ 20-28 มีนาคม รวม 110 จุด มีพื้นที่ป่าได้รับความเสียหายรวม 26,660 ไร่

โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าดับไฟกลุ่มใหญ่ในผืนป่าสาละวิน รวม 5 วัน ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติสาละวินสว.6 (อุมดา) จุดสกัดอุทยานแห่งชาติสาละวิน (โพซอ) สายตรวจส่วนกลางอุทยานแห่งชาติสาละวิน ชุดสถานีควบคุมไฟป่าแม่สะเรียง หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติสาละวินที่ สว.7(แม่ก๋อน) ราษฏรอาสาเฝ้าระวังไฟป่า กลุ่มเครือข่าย อส.อสบ้านแม่ก๋อนและบ้านโพซอ โดยใช้วิธีทำแนวกันไฟไม่ให้ไฟลามเข้าพื้นที่ใจกลางอุทยานสาละวิน ซึ่งการทำงานต้องแข่งกับสภาพอากาศที่ร้อน ไฟป่าที่โหมหนัก เพื่อป้องกันผืนป่าสาละวิน สำหรับสาเหตุของการเกิดไฟยังเป็นการลักลอบเผาของชาวบ้านบางกลุ่มที่ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ถึงวันนี้ 29 มีนาคม ยังพบจุดความร้อนเพิ่มเติมในพื้นที่เดิมบ้านแม่ก๋อน อีก 21 จุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเดินทางเข้าดับไฟกันอีกครั้งในวันนี้

ด้าน ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ส่วนหน้าภาคเหนือ) ได้รายงานข้อมูล hotspot จากดาวเทียม Suomi NPP (ระบบ VIIRS) รอบเช้า พบไฟป่าในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนสูงที่สุดในภาคเหนือ คือพบจุดไฟป่าจำนวน 435 จุด ประกอบด้วย อ.ปาย 50 จุด , อ.ปางมะผ้า 7 จุด , อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 68 จุด , อ.ขุนยวม 67 จุด , อ.แม่ลาน้อย 38 จุด, อ.แม่สะเรียง 134 จุด และ อ.สบเมย 71 จุด จากสถานการณ์ไฟป่าที่ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน พุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว วัดได้ ค่ารายชั่วโมง 242.2 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 150.4 สูงที่สุดของภาคเหนือ และส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างหนักและต่อเนื่อง สำหรับจุดไฟป่าของวันที่ 28 มีนาคม 2567 พบจุดไฟป่ารวมทั้งหมด ( ภาคเช้าและภาคบ่าย ) จำนวน 562 จุด ถือว่าหนักมากสุดของภาคเหนือเช่นกัน

Cr. สุกัลยา บัวงาม