วันอาทิตย์, 22 ธันวาคม 2567

หนึ่งปีมีครั้งเดียว พิธีล้างพระพักตร์พระเจ้าพาราละแข่ง (พระมหามัยมุนี) วัดหัวเวียง

Social Share

หนึ่งปีมีครั้งเดียว พิธีล้างพระพักตร์พระเจ้าพาราละแข่ง (พระมหามัยมุนี) วัดหัวเวียง ประเพณีตามความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อมา ที่เชื่อว่าพระพุทธองค์ได้ประทานลมหายใจไว้

วันที่ 24 มีนาคม 2567 พระสุมณฑ์ศาสนกิติ์ เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายกองค์ใการบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประธานฝ่ายฆราวาส ประกอบพิธีสรงน้ำพระพักตร์ (ล้างพระพักตร์) พระมหามัยมุนี หรือพระเจ้าพาราละแข่ง ณ วัดหัวเวียง ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นประเพณีที่่สำคัญอีกประเพณีหนึ่ง ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะประกอบพิธีนี้ หนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียว

ในการนี้ พระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้นำตัวแทนฆราวาส ประกอบพิธีล้างพระพักตร์เจ้าพาราแข่ง พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา จำนวน 10 รูป พิธีถวายข้าวมธุปายาส (ต่างซอมต่อโหลง) ประธานในพิธีฯ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนา กรวดน้ำ รับพร เป็นเสร็จพิธี

 

ตามตำนานเรื่องเล่ากล่าวว่า พระเจ้าพาราละแข่ง หรือ พระมหามัยมุนี สร้างขึ้นที่เมืองยะไข่ โดยพระเจ้าจันทรสุริยา เจ้าเมืองยะไข่ ได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์และขออนุญาตหล่อรูปเหมือนของพระพุทธองค์ เพื่อเป็นสิ่งแทนในการระลึกถึงกราบไหว้บูชา โดยพระพุทธองค์ได้ประทานลมหายใจใส่ลงในพระพุทธรูปองค์นี้ ชาวยะไข่ เชื่อว่าพระมหามัยมุนีองค์นี้มีลมหายใจ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ทำให้ชาวยะไข่มีการปฏิบัติต่อพระพุทธรูปองค์นี้ประหนึ่งว่าพระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ มีประเพณีสรงน้ำพระพักตร์และถวายจังหัน (ภัตตาหารเช้า) แด่พระมหามัยมุนีเป็นประจำ ด้วยชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์นี้ จึงทำให้กษัตริย์จากดินแดนต่างๆ ปารถนาจะอัญเชิญไปยังบ้านเมืองของตน ในที่สุดพระเจ้าปดุงทรงยกกำลังไปตีเมืองยะไข่ได้ จึงชะลอพระมหามัยมุนีจากเมืองยะไข่ไปยังเมืองอมรประตั้งแต่ปี พ.ศ. 2327

ปัจจุบันในเมียนมา พระมหามัยมุนี ได้รับการนับถือว่าเป็น 1 ใน 5 ของ มหาสถานที่ที่สำคัญ ได้แก่ พระมหมัยมุนีแห่งเมืองมัณฑะเลย์ เจดีย์ชเวดากองแห่งเมืองย่างกุ้ง เจดีย์ชเวมอดอแห่งเมืองหงสาวดี เจดีย์ชเวชิกองแห่งเมืองพุกาม และเจดีย์ชเวสันดอแห่งเมืองแปร

สำหรับประเทศไทย พระเจ้าพาราละแข่ง หรือ พระมหามัยมุนี เท่าที่ทราบในประเทศไทย เดิมมีเพียง 2 แห่ง ได้แก่ วัดไทยวัฒนาราม อำเภอแม่ฮสอด จังหวัดตาก และวัดหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมาก็ปรากฎความนิยมจำลองเพิ่มมากขึ้นในที่ต่างๆ เช่น วัดทุ่งโป่ง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

พระเจ้าพาราละแข่ง หรือ พระมหามัยมุนี ซึ่งองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดหัวเวียงแห่งนี้ เป็นพระพุทธพระมหามัยมุนีที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามศิลปะไทยใหญ่ แบบทรงเครื่องขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัย ทรงเทริด ศิลาภรณ์ สังวาลย์ อินทนิล โดยลุงจองโพหย่า ได้ไปจำลองและอัญเชิญมาจากพม่า ซึ่งหล่อจากทองเหลือง หล่อเป็นส่วน ๆ แยกได้ 9 ส่วน น้ำหนัก 999 กิโลกรัม ล่องมาทางแม่น้ำปาย แล้วนำไปประกอบองค์พระที่วัดพระนอน แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดหัวเวียง ซึ่งก็ได้มีการสืบทอดความเชื่อความศรัทธาต่อองค์พระพุทธรูปนี้มายาวนาน โดยจะกระทำพิธีสรงน้ำพระพักตร์หรือล้างหน้าพระเจ้าพาราละแข่งอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

สำหรับในปีนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ร่วมกับหลายภาคส่วน จัดกิจกรรม กิจกรรมสืบสานประเพณี “ปอยพาราละแข่ง” อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 23-24 มีนาคม 2567 เพื่ออนุรักษ์ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงาน เช่น การประกวดการประดิษฐ์ชุดต่างซอมต่อ การประกวดการทำต้นซอมต่อ และการประกวดการแกะสลักผลไม้ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร สมโภชเจ้าพาราละแข่ง (พระมหามมุนี) พิธีล้างพระพักตร์พระเจ้าพาราละแข่ง (พระมหามัยมุนี) และพิธีถวายข้าวมธุปายาส (ต่างซอมต่อโหลง) เป็นต้น

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล