วันศุกร์, 27 ธันวาคม 2567

รอง ผวจ.แม่ฮ่องสอน เน้นแก้ไขปัญหาด้วยการทำความเข้าใจประชาชน

Social Share

รองผู้ว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน เน้นแก้ไขปัญหาไฟป่าด้วยการทำความเข้าใจกับประชาชน หากต้องการเผาพื้นที่ทำกินสามารถขอ อนุญาตได้อย่างถูกต้อง ส่วนกลุ่มล่าสัตว์และหาของป่าต้องเร่งทำความเข้าใจเพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองพิษที่กระทบต่อประชาชนโดยรวม

วันที่ 6 มีนาคม 2567 นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึง การแก้ไขปัญหาไฟป่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่า นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ให้นโยบายว่า ให้ใช้ระบบซิงเกิลคอมมานด์ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ในระดับจังหวัดก็จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกหน่วยทุกฝ่ายโดยเฉพาะหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือกรมป่าไม้ และ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพรรณพืช กระทรวงสาธารณสุขก็มีคุณหมอคอยดูแล รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ในระดับอำเภอก็จะมอบหมายให้นายอำเภอ เป็นซิงเกิลคอมมานด์ ซึ่งก็หมายความว่าด้วยข้อจำกัดของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ การร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ อาจจะไม่ดีเท่านายอำเภอ เพราะนายอำเภอ มีกำนันผู้ใหญ่บ้านในปกครอง และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในกำกับดูแล มีหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น NGO องค์กรภาคศาสนา ซึ่งได้มีการบูรณาการกำลัง เข้ามาช่วยหน่วยงานกรมป่าไม้และอุทยานฯ ด้วย

ถึงวันนี้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถ้าดูจากจุดชี้วัด เรามีจะความร้อนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงเช้าวันนี้ ( 6 มี.ค.2567 ) เรามีจุดความร้อน 1,475 จุด ถือว่ายังไม่ได้มากมายนัก อยู่ในลำดับที่ 4-5 ของภาคเหนือ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ก็มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น เมื่อได้รับรายงาน นายอำเภอก็จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักบริหารอนุรักษ์ที่ 16 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน จะร่วมกันวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และจัดกำลังเข้าไปควบคุมไฟให้เร็วที่สุด แต่ปัญหาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ข้อจำกัดก็คือสภาพภูมิประเทศ เนื่องจากแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ป่ามาก ถึงร้อยละ 84.31 มีภูเขาสูงชัน การเข้าถึงพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องเดินเท้าเข้าไป หรือแม่แต่พื้นที่สาละวิน เราต้องนั่งเรือ และเดินเท้าอีกหลายชั่วโมง ทำให้การเข้าถึงไฟป่า เป็นไปด้วยความล่าช้า กว่าจะถึง กว่าละลงมือดับไฟ ก็ใช้เวลาพอสมควร ทำให้ไฟลุกลามออกไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามยืนยันว่า เราทำงานเต็มที่ และทำงานอย่างหนักทุกวันเพื่อควบคุมจุดความร้อน เราทราบดีว่า จุดความร้อนจำนวนมากก็จะส่งผลกระทบต่อค่า PM 2.5 สูงขึ้น ตรงนี้ให้ความมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทำงานอย่างเต็มที่ มีข้อน่าสังเกต ไฟป่าตรงพื้นที่ป่าสาละวิน ถ้าเราดูจุดความร้อนจะเห็นว่า อำเภอแม่สะเรียง มีจุดความร้อนเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่แล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมายและการคาดการณ์ของทุกหน่วยที่เฝ้าติดตามอยู่ว่า ว่าจะมีไฟข้ามแดนจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านข้ามเข้ามา เราได้วางแผนในส่วนของสาละวิน โชคดีเมื่อมีไฟจากประเทศเพื่อนบ้านข้ามเข้ามา เรามีไฟอยู่กองหนึ่งที่อยู่ด้านล่างซึ่งอาจจะเกิดจากการล่าสัตว์ หรือหาของป่าลุกลามอยู่ จากการเฝ้าติดตามพบว่า ไฟสองกองนี้จะชนกันและเมื่อปะทะกันก็จะทำให้ไฟมอดหมดลง ถือว่าเป็นสัญญานที่ดี ตอนนี้ หน่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินและกรมทหารพรานที่ 36 เข้าไปอยู่บริเวณนั้นแล้ว ช่วยกันดับไฟไม่ให้ลุกลามมาตอนล่างของเทือกเขา

ในส่วนของโซนเหนือ พื้นที่ อ.ปาย อ.ปางมะผ้า และ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ตอนมีนี้ไฟอยู่ 3 กลุ่ม เจ้าหน้าที่กำลังเดินทางเข้าหน้างานกันหมดแล้ว คิดว่าบ่ายวันนี้เราจะดูจุดความร้อนอีกครั้งว่าเราจะลดจุดความร้อนได้ขนาดไหน ในส่วนของการดูแลสุขภาพเราได้สั่งการลงไปว่าขอให้ ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับทางสาธารณสุขทุกอำเภอภาพใต้การบัญชาการของนายอำเภอให้ พี่น้อง อสม.ประกบกลุ่มเปราะบางทั้งหลาย ไปเยี่ยมเยียนดูแล ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก ว่าได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้คำแนะนำในการดูแลปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ถ้าใครที่จะมีความจำเป็นได้รับการรักษาให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว อีกส่วนเราพยายามขอองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพยายามสร้างความชุ่มชื้นในอากาศด้วยการฉีดพ่นน้ำในทุกแห่ง ซึ่งเราคาดหวังว่า ถ้าเราสามารถควบคุมจุดความร้อนได้เร็ว สถานการณ์ค่า PM 2.5 น่าจะดีขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ใครที่อยู่ใต้คลื่นฝุ่น ย่อมได้รับผลกระทบหมด เราจะเห็นว่าเมื่อเช้านี้ทุกจังหวัดในภาคเหนือค่าฝุ่นจะเป็นสีแดงทั้งหมด ตรงนี้คงหลีกเลี่ยงลำบาก อย่างไรก็ตามการดูแลกลุ่มเปราะบางต้องทำควบคู่กันไป

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ให้ความสำคัญต่อมวลชนในพื้นที่ และมองว่าถ้ารบชนะกับมวลชน หมายความว่าเราสามารถทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในทุกหมู่บ้าน ได้มากเท่าไหร่ไฟก็จะน้อยลงเท่านั้น ทั้งนี้นายอำเภอทุกอำเภอได้จัดทีมลงไปเคาะประตูบ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และ กรมอุทยาน และอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น ๆ อาทิเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ รวมทั้งศิษยาภิบาลคริสตจักรต่าง ๆ ช่วยเหลือกันแก้ไขปัญหาไฟป่า พี่น้อง NGO ทุกฝ่ายเราก็ขอความร่วมมือกันไป เราอาจจะต้องทำงานหนัก ต้องยอมรับว่า การจุดไฟของคนจำนวนน้อยมันไม่ยากแต่กระทบในวงกว้าง ทำอย่างไรที่เราจะนำคนจำนวนน้อยเหล่านี้ ดึงมาเป็นแนวร่วมของเรา ถ้าจำเป็นจะต้องเผา สำหรับในพื้นที่ทำกินเราก็อนุญาตให้เผา โดยไปลงทะเบียนที่ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็จะส่งคำขออนุญาตเผามาที่นายอำเภอ นายอำเภอก็จะดูเรื่องปัจจัยต่างๆ เช่นความร้อน ความชื้น ทิศทางลม และค่า PM 2.5 แล้วก็จะพิจารณาให้เผาอย่างถูกต้อง ซึ่งคิดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่งที่ไม่ต้องไปแอบเผาเราอนุญาตให้เผาอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการล่าสัตว์และหาของป่า เราจะต้องเร่งทำความเข้าจาอีกต่อไป

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล