วันศุกร์, 27 ธันวาคม 2567

แม่ฮ่องสอน จัดกิจกรรม รณรงค์หยุดเผา จัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่ม ทดแทนการเผา

Social Share

จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดกิจกรรม รณรงค์หยุดเผา และการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อทดแทนการเผา เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตร และเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีทางเลือก หรือแนวทางการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่ม ทดแทนการเผา

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่จุดรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร ตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มอบหมายให้ นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานกิจกรรม “รณรงค์หยุดเผา และการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อทดแทนการเผา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปี 2567” โดยมี หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรและประชานในพื้นที่ร่วมกิจกรรม

จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ประมาณ 7.9 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ทำการเกษตร หรือคิดเป็น 6% ของพื้นที่ทั้งจังหวัด และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้มีความหลากหลายในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจกระจายอยู่ทั่วทั้ง 7 อำเภอ และแน่นอนว่าสิ่งที่เหลือจากกระบวนการผลิตก็คือ เศษซากวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ เช่น ตอซัง ฟางข้าว เปลือกฝัก ต้นข้าวโพด เปลือกและต้นถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง เปลือกกาแฟ กิ่ง ก้าน ใบที่เกิดจากการตัดแต่งทรงพุ่ม และอื่นๆ รวมแล้วมากกว่า 2 แสนตัน/ปี

ด้วยสภาพภูมิประเทศในการทำการเกษตรส่วนใหญ่ที่เป็นที่ลาดเชิงเขา เกษตรกรไม่สามารถนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ได้เท่าที่ควร การทำการเกษตรจึงจำเป็นต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก และด้วยความเชื่อที่สืบทอดกันมาว่าการเผาเศษซากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและการเผาอื่นๆ จะทำให้ดินดีขึ้น ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชลดลง อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่าย และง่ายต่อการปรับเตรียม โดยห้วงระยะเวลาการเผาในช่วงฤดูแล้ง เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี ซึ่งแท้จริงแล้วการเผาเป็นการทำลายธาตุอาหารพืชในดิน ทำให้ดินเสื่อมโทรม ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง เกิดภาวะโลกร้อน น้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัด และที่สำคัญคือทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ซึ่งก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคปอด ที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยและเป็นอันตรายต่อชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความสำคัญและเน้นหนักในการขับเคลื่อนทุกภารกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการเผาและส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร และการบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวตามแนวทาง 3R Model ประกอบด้วย เปลี่ยนพฤติกรรม (Re-Habit) เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผา โดยการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยว และส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อลดการเผา เปลี่ยนชนิดพืช (Replace with High Value Crops) เป็นการปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกบนพื้นที่สูง จากพืชไร่เป็นไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชเศรษฐกิจแบบผสมผสานที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ อะโว้คาโด มะคาเดเมีย หรือไม้โตเร็ว หรือปลูกผักในโรงเรือน หรือการทำให้พื้นที่บนดอยกลับเป็นสภาพป่า เป็นป่าไม้ หรือเป็นไม้ยื่นต้น เกษตรกรหรือประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ เปลี่ยนเป็นพืชทางเลือก (Replace with Altternate Crops) เป็นการปรับเปลี่ยนพืชทางเลือก บนพื้นที่ราบ เปลี่ยนพื้นที่นาปรังหรือพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้เป็นการปลูกข้าวโพดหรือพืชตระกูลถั่ว ทดแทนการทำนาปรัง

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตร และเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีทางเลือก หรือแนวทางการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่ม ทดแทนการเผา โดยสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และการผลิตสินค้าเกษตรของตนเอง และขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล