วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

แม่ฮ่องสอน สถานการณ์ไฟป่าน่าวิตก จุดความร้อนพุ่งสูง บางจุดยังดับไฟป่าไม่ได้

Social Share

สถานการณ์ไฟป่าน่าวิตก เมื่อจุดดาวเทียมตรวจพบจุดความร้อนใน อ.เมืองแม่ฮ่องสอน พุ่งสูงแซงหน้า อ.ปาย ด้านเจ้าหน้าที่ยังคงพยายามเร่งดับไฟป่าแต่ก็พบว่าบางจุดเป็นเทือกเขาสูงและไม่สามารถดับไฟป่าได้

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์อำนวยการควบคุมไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง จ.แม่ฮ่องสอน รายงานผลตรวจจับจุดความร้อนของ ดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS ช่วงเช้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดจุดความร้อนขึ้น 31 จุด แยกเป็น อ.ปาย 13 จุด , อ.ปางมะผ้า 1 จุด , อ.เมือง 14 จุด , อ.แม่ลาน้อย 1 จุด และอ.สบเมย 2 จุด จากรายงานการตรวจจับจุดความร้อนของดาวเทียม พบว่า จุดความร้อนใน อ.เมืองแม่ฮ่องสอน พุ่งสูงกว่าอ.ปาย ที่มีจะความร้อนสะสมมากกว่าทุกอำเภอของแม่ฮ่องสอน

นายไพโรจน์ อินทมาตร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ได้รับแจ้งจุดความร้อน (Hotspots) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 จากดาวเทียม soumi NPP ระบบ viirs รอบเวลา 13.49 น.จำนวน 2 จุด บริเวณ ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอนพิกัด จุดที่ 1 395414E 2120442N จุดที่2 392108E 2126191N ในเบื้องต้นได้สั่งการบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ หน่วยพิทักษ์, เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าแม่ฮ่องสอน จำนวนกำลังพลรวม 10 นาย เข้าดับไฟป่า เวลา 18.00น. เนื่องจากเป็นภูเขาและหน้าผาสูงชัน จึงทำแนวกันไฟป้องกันไฟ และดับไฟป่าที่ลงมาด้านล่างแล้วบางส่วน ต่อมา เวลา 21.30น. ให้เจ้าหน้าที่สถานีไฟป่าแม่ฮ่องสอน เฝ้าเฝ้าระวังไฟป่า เมื่อลงมาถึงจุดที่้เข้าได้ เนื่องจากเป็นเวลามืดมาก ก่อเกิดอันตราย สำหรับพื้นที่เสียหาย รอตรวจสอบอีกครั้ง ชนิดป่าเต็งรัง สาเหตุ เก็บหาของป่า ปัญหาและอุปสรรค พื้นที่ภูเขาและหน้าผาสูงชัน

นายรุ่งเพ็ชร์ บรรเทา เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ขุนยวม และหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มส.3 (ขุนยวม) ได้รับแจ้งจุดความร้อน จำนวน 1 จุด บริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่สุรินทร์ ท้องที่บ้าน ห้วยฮุง หมู่ที่ 5 ตำบลขุนยวม อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าหน้าที่ได้ ร่วมกับผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านห้วยฮุง ดับไฟได้ประมาณ 80 % เฉพาะไฟที่จะเข้ามาในหมู่บ้านห้วยฮุง สาเหตุคาดว่าเกิดจากการลักลอบเผาป่าไม่สามารถคำนวณพื้นที่เสียหายได้แต่ดับได้ประมาณ 2 กิโลเมตร เข้าดับไฟประมาณ 18.00 น. จนถึงเวลา 19.30 น.จึงกลับออกมาเพราะเป็นเวลากลางคืน และเป็นภูเขาสูงชันไม่สามารถดำเนินการดับไฟต่อได้

นายทวีชัย กันทใจ หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้เมืองแม่ฮ่องสอน, หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มส.2 (เมืองแม่ฮ่องสอน) และหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มส.8 (ม่อนตะแลง) ได้รับแจ้งจุดความร้อน (Hotspots) ประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 รอบเวลา 14.00 น.จำนวน 1 จุด ตรวจพบโดยดาวเทียม suomi NPP ระบบ viirs ตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อนที่ได้รับพบจุดความร้อนอยู่ในพื้นที่บริเวณบ้านบ้านไม้ซางหนาม หมู่ที่ 6 ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ตามค่าพิกัด 389384E 2106090 N ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ปายฝั่งซ้าย เจ้าหน้าที่จึงได้ประสานศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าแม่ฮ่องสอน ได้เข้าดำเนินการดับไฟเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจึงร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดจุด hotspot และร่วมกันทำแนวกันไฟ เพื่อป้องกันไฟลุกลามตามบริเวณโดยรอบอีกครั้งหนึ่ง พื้นที่ป่าถูกไฟไหม้เสียหายประมาณ 10 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งซ้าย สาเหตุ ไม่ทราบสาเหตุ ดับไฟเวลา18.00น.ดับเสร็จเวล20.00.น.ป่าเต็งรัง

นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ไฟป่าที่เพิ่มสูงอย่างรวดเร็วในพื้นที่ของ อ.เมือง ฯ โดยพบจุดความร้อนเช้าวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ในพื้นที่อำเภอเมืองเมืองแม่ฮ่องสอน จำนวน 14 จุด จึงได้สั่งการให้ชุดเฝ้าระวังไฟป่าประจำหมู่บ้านบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าตรวจสอบและรายงานศูนย์ฯอำเภอทราบ เพื่อรายงานให้กับศูนย์ฯจังหวัดต่อไป หากมีไฟป่าเกิดในพื้นที่หมู่บ้านใด ขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้าไปดำเนินการดับด้วย และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยทันที

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่า มีหลายจุดที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดับไฟป่าได้ เนื่องจากไฟป่าได้ลุกลามขึ้นสู่ยอดเขาที่สูงชันและเป็นหน้าผา ส่งผลให้หมอกควันยังคงกระจายไปทั่วบริเวณดังกล่าวและเมื่อมีความกดอากาศสูงในตอนกลางคืนจนถึงรุ่งเช้า หมอกควันเหล่านั้นจะถูกความกดอากาศให้ลอยไปปกคลุมในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาคล้ายแอ่งกระทะ ส่งผลให้ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนเริ่มมีค่าสูงเพิ่มมากขึ้น วัดได้ 70.8 มคก./ลบ.ม.(ค่าสูงสุดรายชั่วโมง) และค่าเฉลี่ย วัดได้ 45.4 ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล