วันเสาร์, 28 ธันวาคม 2567

ศูนย์ฯ ไฟป่าและหมอกควันแม่ฮ่องสอน พบจุดความร้อนทะลุ 100 จุด หวั่นกระทบสุขภาพประชาชน วอนอย่าเผาป่า

Social Share

ศูนย์ฯ ไฟป่าแม่ฮ่องสอน พบจุดความร้อนทะลุ 100 จุด ตั้งแต่ มกราคมถึง 12 กุมภาพันธ์ 2567 พบจุดไฟป่ามากที่สุดในท้องที่อำเภอปาย หลายหน่วยเร่งดับไฟป่าที่เกิดขึ้น ในแต่ละพื้นที่ คุณภาพอากาศยังไม่เกินค่ามาตรฐานแต่ก็เริ่ม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม ขณะที่ชาวบ้านที่เก็บใบตองวิงวอนอย่าเผาป่า

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รายงานสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567ว่า จุดความร้อนประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 (เมื่อวานนี้) จำนวน 6 จุด และจุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 105 จุด สูงสุดที่อำเภอปาย จำนวน 27 จุด โดยเกิดขึ้นสูงสุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 57 จุด

คุณภาพอากาศประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ค่า PM 2.5 สถานีอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เท่ากับ 26.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานเกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง) , ค่า PM 2.5 สถานีอำเภอแม่สะเรียง เท่ากับ 28.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานเกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง) และค่า PM 2.5 สถานีอำเภอปาย เท่ากับ 30.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานเกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง)

นายนิกร แก้วโมรา หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจุดความร้อน (Hotspots) วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 รอบเวลา 14.14 น. จำนวน 5 จุด ได้ดำเนินการบูรณาการกับหน่วยงานอนุรักษ์เชิงพื้นที่แบบบูรณาการร่วมกับสถานีควบคุมไฟป่าลุ่มน้ำปาย, สถานีควบคุมไฟป่าปางมะผ้า และสมาชิกเครือข่าย อส. กำลังพลจำนวน 8 นาย ผลปฏิบัติงาน ดังนี้ จุดที่ 1 พิกัด 439153E 2126832N บริเวณ ต.สบสา อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เริ่มเข้าดับไฟ เวลา 17.05 น. พบว่าไฟป่าได้ลุกลามเป็นบริเวณกว้าง และประกอบกับเป็นช่วงเวลากลางคืน บางจุดเป็นหน้าผาสูงชัน เจ้าหน้าที่จึงได้ทำแนวกันไฟไว้ได้บางส่วนเพื่อไม่ให้ลุกลาม พื้นที่เสียหายประมาณ 18 ไร่ชนิดป่า เต็งรัง สาเหตุมาจากการหาของป่า , จุดที่ 2 พิกัด 409074E 2148746N , จุดที่ 3 พิกัด 409335E 2148775N , จุดที่ 4 พิกัด 409570E 2148801N และจุดที่ 5 พิกัด 409098E 2149116N บริเวณ ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เจ้าหน้าที่ต้องเข้าดำเนินการทางพื้นที่หน่วยฯ โดยนายสหัส บุญญาวิวัฒน์หัวหน้าชุด น้ำตกซู่ซ่า อ.เมืองแม่ฮ่องสอน และต้องเดินเข้าพื้นที่เกิด hotspots อีก 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาค่ำ เกรงเป็นเหตุอันตราย และเสบียงมีไม่เพียงพอ จึงถอนกำลังเพื่อวางแผนเข้าอีกด้านของจุดเกิด hotspots ในช่วงเช้ามืดวันนี้

นายหลู่ ราษฎรบ้านนาหมากปิน ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน อาชีพรับจ้างทั่วไป เปิดเผยว่า ในห้วงฤดูร้อน ใบไม้ในป่าจะร่วงหล่นสู่พื้น โดยเฉพาะใบตองตึง หรือใบพลวง ( ภาษากลาง ) ชาวบ้านทั่วไปจะพากันไปเก็บใบตองตึง มาเย็บเป็นแถบยาวเพื่อใช้ในการมุงหลังคาบ้านและส่งขายให้กับเกษตรกรผู้ปลูก สตรอเบอรี่ในพื้นที่ แม่ฮ่องสอนและ เชียงใหม่ โดยถ้าใช้สำหรับคลุมแปลงสตรอเบอรี่จะมีราคา 100 แถบ ราคา 160 บาท และถ้าใช้ในการมุงหลังคาบ้านจะมีการเย็บ ( หรือไพใบตอง /ภาษาพื้นที่บ้าน ) ใช้ใบตอง 2 ชั้น จะมีราคา 100 แถบ ราคา 500 บาท ซึ่งทำให้ชาวบ้านมีรายได้ดีมากขึ้นอยู่กับพื้นที่ในป่าจะมีต้นไม้ตึง หรือต้นพลวงมากน้อยแค่ไหน แต่ที่สำคัญคือไม่อยากให้มีการเผาป่าในพื้นที่ ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่พากันเก็บใบตองตึงมาไพขาย เนื่องจากทำให้รายได้น้อยลงและต้องออกไปหาในพื้นที่ห่างไกล

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล

เรื่องมาใหม่