วันอังคาร, 24 ธันวาคม 2567

เปิดอาคารเรียน “ไมลองยี” โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 บ้านทุ่งพร้าว โรงเรียนแห่งพาหุวัฒนธรรม

Social Share

เปิดอาคารเรียน “ไมลองยี” โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 บ้านทุ่งพร้าว โรงเรียนแห่งพาหุวัฒนธรรม

วันที่ 13 มกราคม 2567 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดอาคารเรียน “ไมลองยี” โดยมี นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง นายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นายวิเชน โพชนุกุล เลขาธิการมูลนิธิไทยรัฐ นายดำฤทธิ์ วิริยะกุล หัวหน้าข่าวภูมิภาคไทยรัฐ นายสยามรัฐ กุลประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 โดยมี นายเรืองศักดิ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 (บ้านทุ่งพร้าว) กล่าวรายงาน พร้อมนำคณะกรรมการสถานศึกษา คณะครูและนักเรียน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 เข้าร่วม พิธีเปิดอาคารเรียน“ไมลองยี” ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 (บ้านทุ่งพร้าว)ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

นายเรืองศักดิ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 (บ้านทุ่งพร้าว) ได้กล่าวว่า “ไมลองยี” แปลว่า เมืองแห่งแร่หินใหญ่ จากพงศาวดารโยนก โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 (บ้านทุ่งพร้าว) เริ่มเปิดทำการสอน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2498 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลา 68 ปี จัดการศึกษาให้แก่นักเรียนทั้งในเขตบริการ และนอกเขตบริการจากหมู่บ้านต่างๆ และในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 460 คน มีนักเรียนพักนอน จำนวน 160 คน มีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 30 คน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 (บ้านทุ่งพร้าว) เป็นโรงเรียนในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิไทยรัฐ โดย คุณกำพล วัชรพล เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยาแห่งนี้ เป็นลำดับที่ 33 ใน 111 โรงเรียนทั้งประเทศ ซึ่งมี นายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นผู้ประสานงาน ให้การสนับสนุนส่งเสริมในการจัดตั้ง จึงได้พัฒนาคุณภาพการศึกษาควบคู่ไปกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้ ปีงบประมาณ 2562 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียน 212 ล-ข/57 (ในเขตแผ่นดินไหว) จำนวนเงิน 17,130,440 บาท (สิบเจ็ดล้านหนึ่งแสนสามหมื่นสี่ร้อยสี่สิบบาทถ้วน) สร้างเสร็จ ปี 2564 ปีงบประมาณ 2564 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารหอพักนอน แบบมาตรฐาน จำนวนเงิน 3,158,000 บาท (สามล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นแปดพันบาทถ้วน) สร้างเสร็จปี 2565 ปีงบประมาณ 2565 ได้รับงบประมาณสร้างโรงอาหารขนาดเล็ก 260 ที่นั่ง จำนวนเงิน 3,601,000 บาท (สามล้านหกแสนหนึ่งพันบาทถ้วน) สร้างเสร็จปี 2566

นายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้กล่าวว่า มูลนิธิไทยรัฐ เป็นมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นที่รู้จักของสังคมในฐานะหน่วยงานอุปถัมภ์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ทั้ง 111 แห่ง ทั่วประเทศไทย โดย ท่านกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมูลนิธิไทยรัฐ โรงเรียนแห่งนี้ เดิมมีชื่อว่า โรงเรียนบ้านทุ่งพร้าว และเมื่อปี พ.ศ. 2528 ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิไทยรัฐ จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนไทยรัฐวิทยา เป็นลำดับที่ 33 และใช้ชื่อว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยา (บ้านทุ่งพร้าว) จนถึงปัจจุบัน โดยทางมูลนิธิไทยรัฐได้ส่งเสริม สนับสนุนด้านการพัฒนาการศึกษา ด้านโรงเรียนมีการประสานของบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน หอพักนักเรียน ด้านการพัฒนาผู้บริหารและครู มีการอบรมสัมมนาทุกปีอย่างต่อเนื่อง มีการจัดหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา ความเป็นพลเมืองดี และประวัติศาสตร์ ให้ทุกโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศได้นำไปพัฒนานักเรียนให้เป็นพลเมืองดี รู้เท่าทันสื่อ และใช้สื่อเทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ ส่งผลให้โรงเรียนมีความพร้อมทุกด้าน ได้รับการยอมรับจากชุมชน ในการสร้างเยาวชนที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป

Cr. สุกัลยา บัวงาม