วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

เทศบาลเมืองแม่เหียะ จัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น “พลิกเมือง เปลี่ยนวิถี มุ่งสู่แม่เหียะ สมาร์ซิตี้” สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ผลักดัน

Social Share

เทศบาลเมืองแม่เหียะ จัดกิจกรรมสัมมนา จัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ.2567 พร้อมแถลงผลการดำเนินงาน และเทศบาลเคลื่อนที่พบประชาชน ภายใต้งาน “พลิกเมือง เปลี่ยนวิถี มุ่งสู่แม่เหียะ สมาร์ซิตี้” ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการขับเคลื่อนนโยบายท้องถิ่น เพื่อระดมความคิดเห็นความต้องการของประชาชนทุกองค์กรเครือข่าย นำไปสู่แผนการพัฒนาของเทศบาล

นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ นำคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา กำนันผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มองค์กรเครือข่าย รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองแม่เหียะ ร่วมกันเสนอปัญหาและความต้องการของแต่ละหมู่บ้าน ผ่านกระบวนการเสนอปัญหา ในการทำแผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ.2567 ณ ศูนย์ประชุมโรงแรม ดิเอ็มเพลส

 

จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทและหน้าที่ มีอิสระในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง ตามเจตนารมมณ์ของประชาชน มีการกำหนดตัวบทตัวแทนกฎหมายและกลไกทางกฎหมาย เพื่อให้การกระจายอำนาจเป็นไปอย่างโปร่งใส และ สามารถถูกตรวจสอบจากประชาชนและองค์กรต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างสมดุลและยั่งยืน 2. ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์วัฒนธรรม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง 3. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน 4. ยุทธศาสตร์การการสร้างความมั่นคง ปลอดภัยและความสงบสุข 5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ของประชาชน นอกจากนี้ ยังให้สอดคล้องกับ แผนการศึกษา และแผนสุขภาพ ระดับตำบลอีกด้วย

นายธนวัฒน์ ยอดใจ กล่าวว่า ตำบลแม่เหียะ ประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 20,000คน เทศบาลเมืองแม่เหียะมีภารกิจหน้าที่ ในการให้บริการประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดในทุกๆด้าน ตาม 5 ยุทธศาสตร์ กว่า 100 ภารกิจงาน การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะพัฒนาไปในทิศทางใด จำเป็นต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ หรือแผนงานในอนาคตและแปลงมาสู่การปฏิบัติ สู่การให้บริการอย่างทั่วถึงนั้น ทุกขั้นตอนต้องผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งการร่วมเสนอปัญหา ร่วมการทำงาน และร่วมตรวจสอบ ซึ่งโครงการต่างๆ นั้น ต้องเริ่มการจัดทำ ประชาคมตำบล เข้าสู่แผนพัฒนา 5 ปี มีคณะกรรมการสนับสนุนแผน คณะกรรมพัฒนาแผน เพื่อนำเข้าสู่ร่างงบประมาณรายจ่าย จากนั้นนายกฯ นำเสนอต่อสภาฯ ให้ความเห็นชอบ นำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่อนุมติ เพื่อจัดทำเป็นเทศบัญญัติรายจ่ายประจำปี และดำเนินการโครงการตามเทศบัญญัติ สู่ประชาชนต่อไป

ดังนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการประชาคมระดับตำบล ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่นำเสนอในวันนี้ จะถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น 5 ปี และนำสู่กระบวนการพัฒนาเมืองแม่เหียะให้มีความเจริญในทุกๆ ด้านต่อไป