เครือข่ายงดเหล้า 8 จังหวัดภาคเหนือบน ร้อง!! หน่วยงานภาครัฐใส่ใจ ผลักดันนโยบายอย่างจริงใจ เน้นปกป้อง ลดผลกระทบ หวัง เยาวชนรู้เท่าทันสื่อโฆษณา ไม่ตกเป็นเหยื่อ ก่อปัญหาสังคมจากภัยน้ำเมา
วันที่ 25 มิถุนายน 2566 นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานมอบโล่เกียรติคุณรางวัลนักสร้างเสริมสุขภาวะล้านนา ปี 2566 สำหรับภาคีเครือข่ายงดเหล้าภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด(เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน) จำนวน 16 รางวัล เพื่อยกย่องเชิดชูผู้ที่ร่วมขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดนโยบายการป้องกันปัญหาจากและผลกระทบเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัดตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ได้มอบโล่เกียรติคุณให้กับ นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ซึ่งที่ผ่านมาได้เชิญชวนให้ประชาชนปฏิญาณงดเหล้าเข้าพรรษา ตลอด 10 ปี ยังเป็นอดีตนายอำเภอนักรณรงค์ 2 ปี ซ้อน ในกิจกรรมมีเวทีแลกเปลี่ยนการเสวนาสุขภาวะล้านนาเรื่อง “ผลกระทบและการปรับตัวจากสถานการณ์ปัญหาสุราในเขตภาคเหนือตอนบน” ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้างแจ่มฟ้า พลาซ่าลำพูน
นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวในเวทีครั้งนี้ว่า ขอบคุณเครือข่ายงดเหล้าที่ให้เกียรติมอบโล่เกียรติคุณรางวัลนักสร้างเสริมสุขภาวะ และขอแสดงความยินดีกับ 16 ท่านที่ได้รับโล่รางวัลฯ และขอบคุณ 8 หน่วยงานที่มีจิตใจสาธารณะและให้การสนับสนุนการทำงานขับเคลื่อนงานรณรงค์เกิดเป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม ในฐานะของการเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองในจังหวัดลำพูน ด้วยมีความตั้งใจและพร้อมให้ความร่วมมือ รณรงค์สร้างให้เกิดความตระหนัก เกิดเป็นความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต่างๆ ออกมาร่วมกันสร้างสรรค์สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องเยาวชน ให้ออกห่างจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติปี 2564 เมื่อพิจารณารายจังหวัดพบว่า จังหวัดในภาคเหนือจะเป็นจังหวัดที่มีความชุกของผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในประเทศ หรือเป็นจังหวัดที่มีขี้เหล้าหลวงมากกว่าจังหวัดอื่นๆ เช่น อันดับหนึ่งของประเทศคือจังหวัดน่าน (ร้อยละ 43.3 เป็นผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) อันดันสองคือจังหวัดแพร่ (ร้อยละ 42.9) อันดับสามคือจังหวัดเชียงราย (ร้อยละ 41.4) นอกจากนี้จังหวัดพะเยาอยู่อันดับที่ 5 คิดเป็นร้อยละ 40
จากข้อมูลของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยปัญหาสุรา โดยอาจารย์กนิษฐา ไทยกล้า นำเสนอว่าประเด็นที่น่าเป็นห่วงของภาคเหนือคือมีการดื่มสุราเถื่อน เหล้าต้ม เหล้าชุมชนและเหล้าที่ไม่เสียภาษีจำนวนมาก โดยแพร่เป็นลำดับที่ 1 ของประเทศคิดเป็นร้อยละ 43.2 รองลงมาคือน่าน (ร้อยละ 35.5) ลำปาง (ร้อยละ 34.3) เชียงราย (ร้อยละ 28.2) นอกจากนี้ภาคเหนือยังมีสัดส่วนของนักดื่มที่มีพฤติกรรมดื่มแล้วขับคิดเป็นร้อยละ 45.89 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่คิดเป็นร้อยละ 31.6 โดยจังหวัดเชียงรายมีสัดส่วนที่สูงที่สุดในประเทศคิดเป็นร้อยละ 67.50
ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2565 มีมูลค่า 490,680 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นจากนโยบายสุราเสรี และการทำการตลาดของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย รวมถึงมีรสชาด และผลิตภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เลือกมากขึ้น นอกจากนี้จะมีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะ social media ต่างๆ แม้ว่าจะมีนโยบายของเจ้าของ social media ที่ห้ามการจำหน่ายแต่ก็ไม่ได้ผล มากกว่าร้อยละ 70 ของผู้ขายผ่าน social media เป็นผู้ขายรายเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร และรายขายส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าจะมี influencer ทั้ง influencer ที่รีวิวเหล้าโดยตรง และ influencer ด้านท่องเที่ยว อาหาร แค้มปิ้ง ฯลฯ ที่มารีวิวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น Influencer ที่โพสต์เรื่องเหล้าส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้ทราบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้มีตัวตนอยู่ สื่อสารเพื่อสร้างค่านิยมดื่มใหม่ๆ รวมถึงสื่อสารการตลาดเช่น โปรต่างๆ เช่น ซื้อยกลัง หรือ บุฟเฟ่ต์ ต่างๆ ความง่ายในการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่าน social media จะทำให้มีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น
อาจารย์ประเสริฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่าเด็กเยาวชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอายุที่น้อยลงอายุเฉลี่ย10 -12 ปี ซึ่งเยาวชนมีการรวมกลุ่มกันตามความชอบ กินดื่มกันอย่างสนุกสนาน จนอาจทำให้ขาดการยั้งคิด ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่ง เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายของบ้านเรายังไม่เต็มที่ ไม่ค่อยเด็ดขาดมากนัก จึงทำให้เกิดปัญหาที่ตามมา เช่น ทะเลาะวิวาท หรืออุบัติเหตุ ก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้ง่าย
นางสาววีรญา ร้องคำ เครือข่ายเด็กและเยาวชนเชียงราย กล่าวว่า เยาวชนเป็นช่วงชีวิตที่อ่อนไหวง่าย ส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูที่ทำให้เยาวชนรู้สึกหว้าเหว่ ซึ่งทำให้เยาวชนเล่น Social Media มากขึ้น ส่งผลต่อการใช้เวลาว่างที่ไม่เกิดประโยชน์ รวมถึงการขาดทักษะชีวิต การหาที่พึงทางใจที่ทำให้เยาวชนถูกหลอกและหลงทางได้ง่าย เด็กๆ มีแนวโน้มถูกหลอก รวมถึงเชื่อและซื้อเครื่งดื่มแอลกอฮอล์ทางonline ได้ง่ายขึ้น ซึ่งควรให้ความรู้แก่เด็กๆ และเฝ้าระวังการหลอกลวงเด็กๆ รวมถึงเข้าใจและทำให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ จึงขอร้องให้หน่วยงานและผู้มีอำนาจ หรือกลุ่มทุนต่างๆใส่ใจ ห่วงใยเยาวชน
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาอาจารย์ประเสริฐกล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้นำจุดเด่นด้านวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการทำงานรณรงค์ให้เกิดการลด ละ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นับว่าได้ผล วิถีทางวัฒนธรรมทางการดื่มก็ต่างกันด้วย เราได้มีความพยายามนำนำจุดดีจุดอ่อนออกมาแก้ไข แยกเป็นแต่ละเผ่าพันธุ์ ชาติพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมาเห็นถึงผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ต่อมาเราได้นำการทำงานเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์มาช่วยในการทำงานรณณงค์ไม่ว่าจะเป็นด้านดนตรี กีฬา และอื่นๆ ตามความชอบสำหรับเยาวชน ซึ่งจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่การทำงานภาคหนือก็นำมาใช้เพื่อส่งเสริม สนับสนุนเพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่
อาจารย์ นพพร.นิลณรงค์ นักวิชาการอิสระ นำเสนอว่าภาครัฐควรมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเช่นการส่งเสริมให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจนำมาซึ่งผลกระทบทางสังคมอื่นๆ ซึ่งภาคส่วนต่างๆ ควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะครอบครัวที่ควรให้ความรู้เรื่องกาละ เทศะ และสถานการณ์ในการดื่มที่เหมาะสมเช่น ควรดื่มเท่าไร และดื่มแล้วไม่ควรขับเป็นต้น
เรื่องมาใหม่
- (คลิป) ตำรวจท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน ร่วมกู้ภัย และชาวบ้าน เร่งค้นหานักท่องเที่ยวเดินหลงป่าบ้านยะโป๋
- ผู้ว่าแม่ฮ่องสอนมั่นใจลดไฟป่าหมอกควันได้แน่นอนร้อยละ 50 ในปี 68 เตรียมมาตรการพร้อมบูรณาการทุกภาคส่วน
- แม่ฮ่องสอน อากาศหนาวเย็นจัด ส่งผลกระทบกับชาวบ้านที่อาศัยบนเทือกเขาสูง
- สืบ สภ.แม่สะเรียงแกะรอยรถพ่วงเฉี่ยวชนแล้วหนี จำนนด้วยหลักฐาน รุดมอบตัว แจ้ง 3 ข้อหาหนัก
- (คลิป) เชียงราย ชวนเที่ยวป่าส้มแสง สัมผัสธรรมชาติ วิถีชีวิต ป่าชุ่มน้ำอัตลักษณ์หนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน