วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

ชาวลาหู่ 10 หมู่บ้าน ต.ปางมะผ้า จัดงานประเพณีกินวอชนเผ่าลาหู่ อย่างยิ่งใหญ่

Social Share

ชาวลาหู่ 10 หมู่บ้าน ในพื้นที่ตำบลปางมะผ้า ร่วมจัดงานประเพณีกินวอชนเผ่าลาหู่ ตำบลปางมะผ้า ประจำปี 2566 อย่างยิ่งใหญ่

ที่จุดชมวิวลุกข้าวหลาม บ้านลุกข้าวหลาม ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน นายศราวุธ ทังดิน นายอำเภอปางมะผ้า เป็นประธานเปิดงานประเพณีชนเผ่าลาหู่ ( กินวอ ) ตำบลปางมะผ้า ประจำปี 2566

นายพรมชัย คำเขียว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปางมะผ้า ได้กล่าวว่า งานประเพณีกินวอ หรือปีใหม่ของพี่น้องชาวลาหู่ ประจำปี 2566 ที่จัดขึ้นในวันนี้ มีพี่น้องชาวลาหู่ดำ และลาหู่แดง จำนวน 10 หมู่บ้าน ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลปางมะผ้า ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสืบสานอนุรักษ์ประเพณีเก่าแก่ของชาติพันธุ์ลาหู่เอาไว้ให้คงอยู่สืบไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะให้กับชาวตำบลปางมะผ้าอีกด้วย

ประเพณีกินวอของชนเผ่าลาหู่ ซึ่งจะมีการจัดขึ้นทุกปี ในหนึ่งปีจะมีการจัดขึ้น เพียงหนึ่งครั้ง คือระหว่าง เดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม ของทุกปี มีการเรียนเชิญแขกมาร่วมรับประทานอาหาร ในการจัดประเพณี ในแต่ละคราวนั้น จะจัดประมาณ 9 วัน 9 คืน มีการทำข้าวปุก ซึ่งเป็นข้าวที่นึ่งแล้วนำมาตำให้ละเอียด นำมาตากให้แห้ง และทุกครอบครัวจะมีการล้มหมู ( หรือฆ่าหมู ) โดยจะมีการนำหมูมาหั่นเป็นชิ้น ๆ เพื่อเอาไว้ไปดำหัว ผู้ที่เคารพนับถือ

ภายในงานมีพิธีรดน้ำดำหัวขอขมานายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ตามพิธีโบราณของชนเผ่าลาหู่ โดยแก่มู ( ผู้อาวุโส ) นำผู้ร่วมงานทำพิธีกราบไหว้เทพเจ้าอือซา ( เทพเจ้าประจำชาติพันธุ์ลาหู่ดำ และลาหู่แดง )

ต่อจากนั้น มีการเต้นจะคึ ซึ่งเป็นการละเล่นของพี่น้องชนเผ่าลาหู่ การเต้นจะคึจะมีหลายจังหวะ โดยที่ผู้ตีกลองหรือเป่าแคนดีดซึง ( คล้ายกีตาร์ ) เป็นท่วงท่าและกำหนดจังหวะ จับมือเต้นเป็นวงกลม กลางลานที่จัดกิจกรรม

การแข่งขันสะบ้า ซึ่งเป็นการละเล่นที่มีมาช้านานแล้ว โดยแต่ละหมู่บ้านส่งตัวแทนร่วมการแข่งขันอย่างสนุกสนานครึ้นเครง การร้องเพลงของพี่น้องชาวลาหู่ ซึ่งไม่เหมือนกับที่อื่น ซึ่งเป็นร้องแบบสด ๆ คิดไป ร้องไป

นายศราวุธ ทังดิน นายอำเภอปางมะผ้า ได้กล่าวว่า งานประเพณีกินวอ หรือประเพณีปีใหม่ของชาวลาหู่ เป็นงานประเพณีที่ควรได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้จัดขึ้น เพื่อเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม สร้างความสัมพันธ์อันดีในชนเผ่า และระหว่างชนเผ่า อีกทั้งยังเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชนเผ่าให้คงอยู่สืบไป