วันเสาร์, 11 มกราคม 2568

ปภ. ส่ง ฮ. KA 32 ปฏิบัติการคู่ขนาน ภาคพื้นดิน บูรณาการป้องกันและดับไฟป่าแม่สะเรียง

Social Share

จากสถานการณ์ปัญหาไฟป่าและหมอกควันไฟในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบยังมีจุดฮอตสปอตกระจายเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของ ต.แม่คง และ ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

วันที่ 6 เมษายน 2565 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งเฮลิคอปเตอร์ KA – 32 ร่วม ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และ มีการการประชุมบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟ ณ ห้องประชุมค่ายเทพสิงห์ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 โดยมี นายพรเทพ เจริญสืบสกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง เป็นประธาน ประชุมหารือร่วมกับทาง นายเรืองฤทธิ์ ผลดี หัวหน้าสำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน พันเอก สมภพ ใจบุญ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 นายธิติทัศน์ ฉลอม ผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อม จัดแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ ปฏิบัติการทางอากาศยาน และ การปฏิบัติการทางภาคพื้นที่ดิน ดำเนินการบูรณาการแบบคู่ขนาน โดย (เฮลิคอปเตอร์) KA 32 เข้าดำเนินการทิ้งน้ำดับไฟ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ยังพบจุดความร้อนกระจายในพื้นที่ภูเขาสูงชัน

ทั้งนี้ในช่วงเช้า ฮ. KA 32 บรรจุ ถังน้ำขนาด 3,000 ลิตร ขึ้นบินทิ้งน้ำดับไฟป่าในพื้นที่เป้าหมาย 6 เที่ยวบิน 18,000 ลิตร โดยใช้แหล่งน้ำในพื้นที่ อ่างเก็บน้ำบ้านแม่สะลาบ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ควบคู่กับ ชุดภาคพื้นดินที่กระจายกำลังออกปฏิบัติการดับไฟ ซึ่งได้มีการบูรณาการกำลังร่วม ระหว่าง เจ้าหน้าสถานีควบคุมไฟป่าแม่สะเรียง,ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าชุมพร(เสือไฟ),ชุดเหยี่ยวไฟกรมป่าไม้,จนท.อุทยานฯสาละวิน,จนท.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาบะวิน,จนท.อุทยานแม่เงา อุทยานฯแม่สะเรียงฯ เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 337 และ เจ้าหน้าที่ปกครอง อส.แม่สะเรียง เข้าร่วมดำเนินการดับไฟในพื้นที่เป้าหมาย 15 ไร่ โดย ฮ.KA 32 จะดำเนินการทิ้งน้ำดับไฟในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่ายของวันนี้

สถานการณ์ไฟป่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 เมษายน 2565 จุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 เมษายน 2565 จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจุดความร้อนสะสม ทั้งหมด 4,191 จุด คิดเป็นร้อยละ 35.09 ของจุดความร้อนสะสมปี 2564 หรือ คิดเป็นร้อยละ 43.86 ของค่าเป้าหมายปี 2565 ซึ่งทางจังหวัดตั้งเป้าหมายปี 2565 ไม่เกิน 9,556 จุด โดยอำเภอที่มีจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ อำเภอแม่สะเรียง จำนวน 1,176 จุด สำหรับ สถานการณ์คุณภาพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 เมษายน 2565 สำหรับ คุณภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำวันที่ 6 เมษายน 2565 สถานีตรวจวัด อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ค่า PM 2.5 เท่ากับ 88 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 32 วันค่าสูงสุดที่วัดได้ เท่ากับ 142 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 สถานีตรวจวัด อ.แม่สะเรียง ค่า PM 2.5 เท่ากับ 130 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 16 วัน