เชียงใหม่ พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีก 2 ราย รวมแล้วเป็น 32 ราย และเตรียม รพ.ไว้สองแห่ง รองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
30 มี.ค. 63 : ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่ (ศ.ข.ฉ.ก. ) อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ น.พ.กิตติพันธุ์ ฉลอม นายแพทย์ชำนาญการ สำนักระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
น.พ.กิตติพันธุ์ ฉลอม นายแพทย์ชำนาญการ สำนักระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่มอีก 2 ราย รายแรกเป็นหญิงอายุ 23 ปี ทำงานอยู่ในป่าตอง จ.ภูเก็ต ซึ่งทำงานครั้งสุดท้ายในวันที่ 18 มีนาคม และเดินทางกลับมาบ้านที่ จ.เชียงใหม่ ด้วยที่ยวบิน FD3161 วันที่ 19 มีนาคม 2563 จากท่าอากาศยานภูเก็ต – เชียงใหม่ ผู้ป่วยรายนี้ เริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม มีไข้ ปวดศีรษะและในวันที่ 28 มี.ค. ก็ตรวจพบเชื้อ และผู้ป่วยรายนี้มีผู้สัมผัสร่วมบ้านอีก 6 คน กำลังประสานติดตามให้ทั้งหมดมาตรวจ และอีกรายเป็นผู้ป่วยหญิง อายุ 30 ปี โดยเป็นแฟนของผู้ป่วยที่เคยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ เริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. โดยผู้ป่วยรายนี้ได้แยกกักตัวเองอยู่ในบ้านตั้งแต่รู้ว่าตนเองมีความเสี่ยง จนมีอาการเพิ่มขึ้นแล้วเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล และนอนอยู่โรงพยาบาล ซึ่งผลตรวจก็พบว่าเจอเชื้อ ตอนนี้กำลังติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอีก 3 คน ที่เดินทางไปหาผู้ป่วยที่บ้าน ในช่วงที่มีอาการ ให้เดินทางมารับการตรวจ
ยอดรวมทั้งหมดของจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวน 32 ราย โดยเดินทางกลับบ้านไปแล้ว 6 ราย ที่เหลืออีก 26 รายพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยหนัก ที่อยู่ในโรงพยาบาลเป็นผู้สูงอายุ นั้นขณะนี้อาการดีขึ้นแล้ว และยังไม่มีผู้เสียชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ตอนนี้ก็มีการตรวจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาด จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 638 ราย ตรวจแล้วผลเป็นลบ จำนวน 508 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 130 ราย เพื่อรอผลตรวจ ส่วนผู้เดินทางจากเขตติดต่ออันตรายและพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง มีทั้งหมด 793 ราย กักตัวอยู่ที่บ้าน 98 ราย อยู่ในศูนย์ดูแลของจังหวัด จำนวน 8 ราย กักตัวครบ 14 วันแล้ว จำนวน 679 ราย และอยู่ระหว่างติดตามตัวอีก 8 ราย
กลุ่มผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด 32 ราย ได้แบ่งกลุ่มชัดเจน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงทั้งต่างประเทศและในประเทศ โดยเดินทางมาจากประเทศจีน จำนวน 1 ราย ประเทศอังกฤษ จำนวน 4 ราย ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จำนวน 1 ราย กรุงเทพฯ จำนวน 2 ราย ภูเก็ต 1 ราย และมีประวัติเดินทางไปสถานบันเทิงที่ร้านตะวันแดง, ร้าน Take it, ร้าน Pretty Xclusive Club, ร้าน Sound Up และร้าน WB Pub ก็มีการเฝ้าระวังกลุ่มนี้เป็นพิเศษ
จังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ประชาชนที่มีประวัติเสี่ยงในการสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน โดยมีเที่ยวยินที่มีผู้ป่วยเดินทางได้แก่ 3 เที่ยวบิน คือ เที่ยวบิน FD3431 วันที่ 18 มีนาคม 2563 จากท่าอากาศยานดอนเมือง – เชียงใหม่, เที่ยวบิน FD3161 วันที่ 19 มีนาคม 2563 จากท่าอากาศยานภูเก็ต – เชียงใหม่ และเที่ยวบิน FD3425 วันที่ 21 มีนาคม 2563 จากท่าอากาศยานดอนเมือง – เชียงใหม่ โดยผู้ที่เดินทางมาจากเที่ยวบินทั้ง 3 เที่ยวบินนี้ ก็ขอให้กักตัวอยู่กับบ้านเพื่อสังเกตอาการ จำนวน 14 วัน ตั้งแต่วันที่ท่านเดินทาง หากพบว่ามีไข้ รู้สึกไม่สบาย ก็ขอให้รีบเข้ารับการตรวจทันที
ในช่วงที่ผ่านมามีการติดตามกับผู้สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 163 ราย และผลเป็นลบ จำนวน 140 ราย กลุ่มที่ 1 เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน จำนวน 18 คน พบติดเชื้อ 2 คน คิดเป็นร้อยละ 11 กลุ่มที่ 2 ในสถานบันเทิง ตรวจไป 69 คน พบเจอผู้ติดเชื้อ 21 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ถือว่าค่อนข้างมาก กลุ่มที่ 3 ในชุมชน จำนวน 22 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อ กลุ่มที่ 4 ที่ทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ จำนนวน 35 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อ กลุ่มที่ 5 ยานพาหนะที่เดินทางมาร่วมกับผู้ติดเชื้อ จำนวน 4 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อ และกลุ่มที่ 6 สถานพยาบาลที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ จำนวน 15 คน ตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อ ดังนั้น กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในบ้านใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน และกลุ่มที่ไปเที่ยวยังสถานบันเทิง
สำหรับการเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการหนัก โดยเตรียมสถานที่ไว้ 2 แห่ง โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อเตรียมไว้ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และเพื่อให้ทั้งสองโรงพยาบาลนี้รับมือกับผู้ป่วยอาการหนักได้ จึงจำเป็นต้องจัดหาสถานพยาบาลที่จะให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากได้เข้าไปพักดูแล และแยกกักตัวเองจนกว่าจะพ้นระยะเวลาแพร่เชื้อ คือ โรงพยาบาลประสาท และโรงพยาบาลสันกำแพง ซึ่งทั้งสองแห่งนี้มีความพร้อมทั้งทางด้านอาคาร การปรับโครงสร้างให้พร้อมที่จะรองรับผู้ป่วยและป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมทั้งมีการโอนย้ายภารกิจในการดูแลผู้ป่วยเดิมไปในสถานพยาบาลอื่นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางโรงพยาบาลสันกำแพง ก็ได้ประสานกับ รพ.สต.ในพื้นที่ในการตรวจผู้ป่วยนอก ส่วนผู้ป่วยหนัก หรือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องมาใช้บริการห้องฉุกเฉินก็ได้มีการแบ่งไปอีก 3 โรงพยาบาล
ประชาชนที่อยู่ใน ต.สันกลาง ต.บวกค้าง ก็เดินทางไปรับบริการฉุกเฉินได้ที่ รพ.สารภี, ต.ต้นเปา ต.ห้วยปูคา และ ต.ห้วยทราย รับบริการฉุกเฉินได้ที่ รพ.ดอยสะเก็ด, ต.แช่ช้าง ต.สันกำแพง ต.ร้องวัวแดง และ ต.ออนใต้ รับบริการฉุกเฉินได้ที่ รพ.แม่ออน ซึ่งเป็นการเตรียมที่จะเตรียมรับผู้ป่วยหนัก และให้มั่นใจว่า ผู้ป่วยหนักจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มีสถานที่เพียงพอในการดูแลที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการแยกผู้ป่วยจนกว่าจะพ้นระยะเวลาการแพร่เชื้อเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในชุมชน
เรื่องมาใหม่
- เปิดรับสมัครเลือกตั้ง นายก อบจ.เชียงใหม่ วันแรกคึกคัก
- สนามเลือกตั้ง นายก อบจ.เมืองสามหมอกเข้มข้น สู้กันอย่างดุเดือด
- รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมที่ปรึกษา รมว.ต่างประเทศ เยี่ยมศูนย์อพยพแม่ฮ่องสอน เพื่อติดตามด้านสาธารณสุขและการศึกษา
- (คลิป) เชียงราย เพื่อไทยเปิดตัว ผู้สมัครชิงนายก อบจ. ทักษินส่งวีดีโอพิเศษ ขอเสียงคนเชียงรายเทคะแนนเลือกตั้ง
- (คลิป) เชียงราย อากาศหนาว นักท่องเที่ยวแห่จองห้องพักจนเต็มยาวถึงปีหน้า