เทศกาล “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 11” ชวนปล่อยใจ ปล่อยจอย ในดินดอยมหัศจรรย์
4 ธ.ค.2567 : เชียงราย – หน้าหนาวนี้ เตรียมพบกับเทศกาลที่ทุกคนรอคอย! “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 11” งานที่นำพาความสุข ความอบอุ่น และความประทับใจมาสู่ดอยสูง พร้อมเปิดตัวธีมใหม่สุดพิเศษ “WINTER WONDERDOI ปล่อยใจ ปล่อยจอย ในดินดอยมหัศจรรย์ DoiTung x NEWYEAR”
บริเวณสวนแม่ฟ้าหลวง โครงการพัฒนาดอยตุงจังหวัดเชียงรายนายประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงานเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 11 โดยมีนายประเสริฐ ตรงเจริญเกียรติ ประธานสายปฏิบัติงาน/ธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) หัวหน้าส่วนราชการทั้งภาครัฐและเอกชน และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
พบกับความพิเศษสุดเมื่อศิลปินป๊อปอาร์ตรุ่นใหม่อย่าง “NEWYEAR ปภากร ศรีกัลยกร” มาร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์หายากบนดอยตุง อาทิ แมวดาว นางอาย ตัวตุ่น นกโพระดก เป็นต้นซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ผลจาก การดูแลป่าดอยตุงมากว่า 36 ปีออกแบบเป็นตัวการ์ตูนคาแรคเตอร์สุดน่ารักกระจายอยู่ทั่วสวนดอกไม้บนดอย ให้ตามเช็คอินถ่ายรูปเก็บความประทับใจกลับบ้านที่จะทำให้ทุกการเดินทางของคุณเต็มไปด้วยสีสัน ความสุข และแรงบันดาลใจ
เทศกาลนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ถึง 26 มกราคม 2568 เปิดให้บริการทุก วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ณ โครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย งานนี้เหมาะ สำหรับทุกคนในครอบครัว ทั้งสายรักธรรมชาติ สายแชะภาพ หรือสายชิม ไม่ว่าคุณจะเป็น นักท่องเที่ยว ที่ต้องการพักผ่อนท่ามกลางอากาศหนาว หรือนักสำรวจที่อยากสัมผัสความงามของวัฒนธรรม ชนเผ่า เทศกาลนี้มีสิ่งที่ตอบโจทย์ทุกคนรออยู่
นายประเสริฐ ตรงเจริญเกียรติ ประธานสายปฏิบัติงาน/ ธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นการเติบโตของเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงในทุกๆ ปี โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 แล้ว ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่แห่งความสุขสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ยังสะท้อนถึง ความมุ่งมั่นของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในการพัฒนาชุมชนและฟื้นฟูธรรมชาติอย่างยั่งยืน ปีนี้เรานำเสนอธีม ‘WINTER WONDERDOI’ ที่สื่อถึงความมหัศจรรย์ของดอยตุง ผ่านศิลปะ วัฒนธรรม และธรรมชาติที่ผสมผสาน อย่างลงตัว”
“ดอยตุง คือเรื่องราวความสำเร็จที่เกิดจากการพัฒนาภายใต้แนวคิด “คนอยู่ร่วมกับป่า” สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเล็งเห็นถึงศักยภาพของดอยตุงและฟื้นฟูพื้นที่จากการปลูกฝิ่น และการทำลายป่า ให้กลายเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ วันนี้ดอยตุง ไม่เพียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ยังเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในด้าน การอนุรักษ์ธรรมชาติ การพัฒนาชุมชน และการส่งเสริมวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ผมขอขอบคุณทีมงานทุกคน ชุมชนในพื้นที่ และพันธมิตรทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันทำให้งานนี้เกิดขึ้น และผมเชื่อมั่นว่าเทศกาลนี้จะมอบความสุข ความประทับใจ และแรงบันดาลใจให้กับทุกท่านที่มาเยือน”
ไฮไลต์ของเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง
งานในปีนี้พร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่ที่คุณไม่เคยสัมผัสมาก่อน!
- ธีม WINTER WONDERDOI: เมื่อธรรมชาติและศิลปะมาบรรจบกัน
ธีมปีนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก สัตว์ป่าหายากบนดอยตุง เช่น แมวดาว นางอาย ตัวตุ่นและนกโพระดก ศิลปินป๊อปอาร์ตรุ่นใหม่ NEWYEAR ปภากร ศรีกัลยกร ได้นำเรื่องราวเหล่านี้มาถ่ายทอดผ่านตัวละครและประติมากรรมสุดน่ารักที่กระจายอยู่ทั่วสวน เพื่อเดินตามรอย “มุมแชะภาพสุดว้าว” ที่จะทำให้คุณต้องหยิบกล้องมาถ่ายรูป
- สะพานนางอายสายรุ้ง : สะพานไม้ที่ทอดผ่านสวนดอกไม้ ท่ามกลางสระมรกต
- บันไดสายรุ้ง : จุดชมวิวที่สร้างบรรยากาศให้ดูเหมือนคุณกำลังเดินเข้าสู่สายรุ้งแห่งดอยตุง
- ประติมากรรมสัตว์ป่า : เช่น ตัวตุ่น นักพรวนดินแห่งขุนเขา หรือบอลลูนแมวดาวยักษ์
- สวนดอกไม้ระบายดอย: ความงามที่ไม่เคยจางหาย
สวนดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดบนดอยตุงปีนี้ได้รับการตกแต่งใหม่ ด้วยดอกไม้เมืองหนาวหลากสีสัน ที่สร้างแรงบันดาลใจและเพิ่มความมีชีวิตชีวา จุดเด่นของสวนนี้คือ
- ทุ่งดอกไม้หลากสี : ที่ออกแบบเพื่อสร้างบรรยากาศฤดูหนาว
- เขาวงกตลอยฟ้า : ชิ้นงานศิลปะที่ผสมผสานประเพณีและความเชื่อของชาวไทใหญ่
- ถนนคนเดินดอยตุง: เมื่อวัฒนธรรมชนเผ่ามาเจอกับความร่วมสมัย หนึ่งในไฮไลต์ที่นักท่องเที่ยว ไม่ควรพลาดคือ
ถนนคนเดินดอยตุง ซึ่งรวบรวมสินค้า อาหาร และเครื่องดื่มจาก 6 ชนเผ่า ได้แก่ อาข่า ลาหู่ ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทลัวะ และจีนยูนนาน อาทิ อาหารชนเผ่าและเมนูพิเศษ ข้าวอิโต หมูดำย่างจิ้มแจ่ว อกไก่ย่างซอสสะเบี๊ยะ ไอศกรีมดอยตุง 3 รสชาติ ที่สร้างจากแรงบันดาลใจของธรรมชาติ งานหัตถกรรมชนเผ่า สินค้าแฮนด์เมด เช่น เสื้อผ้าทอมือ กระเป๋า และของที่ระลึก ที่ออกแบบอย่างร่วมสมัย
- การแสดงและดนตรีพื้นเมือง : การเต้นรำจากชนเผ่า เช่น รำกระทุ้งไม้ไผ่ หรือการโชว์ดนตรี จากเครื่องดนตรีพื้นเมือง
- กิจกรรมสร้างสรรค์ เวิร์กช็อปและเกมสนุกๆ สำหรับสายรักกิจกรรม คุณสามารถสนุกไปกับ เวิร์กช็อปที่ออกแบบเพื่อทุกวัย การทำเครื่องประดับจากลูกปัด, DIY พวงกุญแจดอกไม้แห้ง และ การเพ้นท์เซรามิก
นอกจากนี้ยังมีเกมและกิจกรรมที่ช่วยสร้างความตระหนักถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น หมุนวงล้อ ตามหา Wonder of Doi Tung เพื่อลุ้นของที่ระลึกพิเศษ และ นิทรรศการผลกระทบ ของภาวะโลกร้อน พร้อมกิจกรรมคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจก
เทศกาลสีสันแห่งดอยตุงยังคงรักษาความมุ่งมั่นในการสร้างงานปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Event) โดยลดการใช้พลาสติก และเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นิทรรศการ “Wonder to be Green” ยังเชิญชวนผู้เข้าร่วมเขียน “คำสัญญากับอนาคต” เพื่อบอกเล่าถึงสิ่งที่เราสามารถทำเพื่อช่วยลด โลกร้อน
ข้อมูลสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว
เวลาเปิด-ปิด : วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00-18.00 น.
ค่าบัตรเข้าชม:
- ผู้ใหญ่: 90 บาท
- ส่วนลดพิเศษ 50%: สำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ คนพิการ และนักบวช
- เด็กสูงต่ำกว่า 120 ซม.: เข้าชมฟรี
จุดจำหน่ายบัตร:
- ทางเข้าสวนแม่ฟ้าหลวง
- จุดบริการใกล้สะพานสายเก่า
- บริเวณทางเข้าสวนแม่ฟ้าหลวง
อย่าพลาดเทศกาลที่เปี่ยมไปด้วยความสุขและสีสัน “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 11” มากกว่าเทศกาล เพราะคือการเดินทางที่จะพาคุณไปสัมผัสความงามของธรรมชาติ วัฒนธรรม และการสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความมหัศจรรย์นี้ได้ที่ ดอยตุง จังหวัดเชียงราย เตรียมตัวออกเดินทาง แล้วมาสนุกกัน!
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
- Facebook : DoiTung Club
- Instagram : Doitung.official
เรื่องมาใหม่
- (คลิป) เชียงราย เพื่อไทยเปิดตัว ผู้สมัครชิงนายก อบจ. ทักษินส่งวีดีโอพิเศษ ขอเสียงคนเชียงรายเทคะแนนเลือกตั้ง
- (คลิป) เชียงราย อากาศหนาว นักท่องเที่ยวแห่จองห้องพักจนเต็มยาวถึงปีหน้า
- ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน รองเลขานายกฯ ยืนยัน ท่องเที่ยวปลอดภัย ไม่มีเหตุการณ์ปะทะฝั่งตรงข้ามแนวชายแดน
- แม่ฮ่องสอน แข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 72 ปีการศึกษา 2567
- ขสป.สาละวิน เคาะประตูบ้าน 10 หมู่บ้าน 40 หย่อมบ้าน ตั้งเป้าลดการเผาไหม้พื้นที่ป่า 30% ในปี 2568