กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานแห่ไม้ค้ำโพธิ์อำเภอจอมทอง ซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกที่จัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ยกระดับงานสู่ระดับโลก ชูเป็นซอฟต์พาวเวอร์ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาแอ่วจ๋อมตอง หลังองค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
วันที่ 13 เม.ย. 2567 นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกันเป็นประธานเปิดงานประเพณีแห่ไม้ถ้ำโพธิ์ โดยมีผู้บริหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอจอมทอง สภาวัฒนธรรมอำเภอจอทอง ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมกันจัดงานขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์จอมทอง หรือขบวนแห่ไม้ค้ำสะหลี ซึ่งเป็นประเพณีใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้มีขบวนไม้ค้ำโพธิ์ จากภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้ง 23 ขบวนโดยได้ตกแต่งขบวนแห่เป็นแบบโบราณ สอดแทรกวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมแบบล้านนา โดยผู้เข้าร่วมขบวนแต่งตัวด้วยชุดผ้าพื้นเมืองเข้ากับบรรยากาศช่วงประเพณีปี๋ใหม่เมือง เริ่มขบวนแห่บริเวณหน้าห้างเทสโก้โลตัส อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แห่ไปตามทางหลวงแผ่นดิน 108 ไปจนถึงหน้าวัดพระธนศรีจอมทองวรวิหาร
ด้าน นายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งทางภาคเหนือ เรียกว่า “ป๋าเวณีปีใหม่เมือง” และ เรียกวันที่ 13 เมยายน ว่า วันสังขารล่อง หมายถึง วันที่ปีเก่าผ่านไป หรือวันที่สังขารร่างกายแก่ไปอีกปี ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซน สาธารณรัฐบอตสวานา องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ที่ผ่านมาทางอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีประเพณีแห่ไม้ถ้ำโพธิ์ซึ่งจัดขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปี เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานาน ตามตำนานเกิดขึ้นที่อำเภอจอมทอง ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและแห่งเดียวในโลก โดยประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์กลายเป็นต้นแบบของการแห่ไม้ค้ำสะหลีของชาวล้านนา จนได้รับความนิยมไปทั่วภาคเหนือ และเป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับความนิยมอย่างมาก ในปีนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อยกระดับงานประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ให้เป็นประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ระดับโลก ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม โดยมี กระทรวงวัฒนธรรม องค์กรปกครองท้องถิ่น 7 แห่ง หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถานีตำรวจภูธรจอมทอง โรงเรียน และประชาชนทั้ง 6 ตำบล สนับสนุนและร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่มีขบวนแห่ไม้ถ้ำโพธิ์ จำนวน 23 ขบวน
ในวันแห่ไม้ถ้ำโพธิ์หรือแห่ไม้ถ้ำสะหลี ชาวจอมทองไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ต่างก็จะพากันกลับบ้านมารดน้ำดำหัวบุพการีและร่วมกันแห่ไม้ค้ำสะหลีมายังวัดพระธาตุศรีจอมทองกันอย่างเนืองแน่น เพื่อนำไม้ง่ามที่ตัดแต่นำมาค้ำต้นโพธิ์ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการค้ำชูศาสนา อีกทั้งเชื่อกันว่ากุศลในการถวายไม้ค้ำโพธิ์จะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้น ไม่ตกต่ำ มีคนช่วยเหลือค้ำชูไปตลอด ถือเป็นประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่สืบทอดกันมาช้านานนับห้าร้อยกว่าปีแล้ว
ทั้งนี้ ขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์จอมทอง ปีนี้กำหนดจัดด้วยกัน 2 วัน วันแรกคือวันที่ 13 เม.ย. 67 เป็นงานที่กล่าวมาแต่ต้น จัดเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าแก่ของอำเภอจอมทอง ส่วนอีกวัน จัดในวันที่ 15 เม.ย. 2567 เป็นขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ที่จัดโดยกลุ่มหนุ่มสาวอำเภอจอมทอง ขบวนที่จัดตกแต่งมาพร้อมกับมหกรรมเครื่องเสียงสุดอลังการ ปีนี้จะมีด้วยกัน 23 ขบวน โดยเริ่มแห่ในช่วงเย็นและไปสิ้นสุดในเวลาเที่ยงคืนหรือดึกกว่านั้น
เรื่องมาใหม่
- SUN ประชุมประจำปี เดินหน้าขับเคลื่อนแผนธุรกิจปี 2568 ปักหมุดความยั่งยืน ขยายตลาดพร้อมรับทุกความท้าทาย
- เทศบาลเมืองแม่เหียะ อปท.แห่งแรกของเชียงใหม่ เปิดบริการงานบัตรประจำตัวประชาชนอย่างเป็นทางการ
- (คลิป) เชียงราย รวบหนุ่มหนีหมายจับขี้ระแวงพกปืนทำชาวบ้านผวา โวยิงแม่น 20 เมตรไม่พลาด
- ชมรมพ่อค้าแม่ค้าเชียงราย ไม่ขอทน บุกศาลากลางร้องผู้ว่า ถูกนายทุนต่างถิ่นผูกขาดจัดงานประจำปี
- เริ่มแล้ว “มหกรรมสีสันล้านนาตะวันออก” ครั้งที่ 3 หน้าด่านพรมแดนแม่สาย