วันจันทร์, 23 ธันวาคม 2567

(คลิป) ร่างทรงฟ้อนผีมด เริ่มลำบาก พิษโควิด 19 เล่นงาน เชียงใหม่ คุมเข้มหวั่นโควิดระบาด

Social Share

คุมเข้มร่างทรงฟ้อนผีมด ผีเม็งหวั่นเป็นจุดแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 หลังจากร่างทรงนับพันคน นัดกันมาร่วมประเพณีการฟ้อนผีของชาวล้านนา หรือลงผีเข้าทรง ที่บ้านศาลา ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง ขณะเดียวกัน ฝ่ายปกครอง และเทศบาล ต.ยุหว่า ชี้แจงทำความเข้าใจ กับเจ้าภาพและผู้ที่มาร่วมงาน ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตั้งจุดคัดกรองวัดไข้ ร่างทรงรวม 400 คน ที่มาร่วมงาน ก่อนที่จะอนุญาตให้จัดงานและยกเลิกอย่างรวดเร็ว

20 มี.ค. 63 : เจ้าหน้าที่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสันป่าตอง เจ้าหน้าที่หน่วยงานปฐมภูมิและองค์รวม โรงพยาบาลสันป่าตอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.สันป่าตอง และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลยุหว่า อ.สันป่าตอง เข้าเจรจาพูดคุยกับร่างทรงที่มาร่วมงานประเพณีฟ้อนผีมอ ผีเม็ง ที่เหล่าร่างทรงในพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 1 พันคนได้นัดกันมาร่วมตัวกันประกอบพิธี ฟ้อนผีของชาวล้านนา ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาเช้าเหล่าร่างทรงเดินทางมาถึงสถานที่จัดงานประมาณ 400 คน เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปเจรจาขอให้ยกเลิกจัดงานเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นจุดแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 โดยเหล่าร่างทรงและเจ้าภาพยืนยันจะจัดงานต่อไป หลังจากเจ้าหน้าที่พูดคุยทำความเข้าใจกับบรรดาร่างทรง จึงได้ข้อสรุปว่าให้จัดงานได้จนถึงเวลา 14.00 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ขอให้เจ้าหน้าที่วัดไข้กับทุกท่านที่มาร่วมงานหากท่านใดมีไข้หรือสุ่มเสี่ยงก็จะให้เดินทางกลับทันที นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อ.สันป่าตอง ได้ตั้งจุดคัดกรองวัดไข้ พร้อมนำเจล ฆ่าเชื้อโรคมาให้ร่างทรงที่มาร่วมงานทำความสะอาด มือทุกท่านก่อนจะเข้าร่วมงาน

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยงานปฐมภูมิและองค์รวม โรงพยาบาลสันป่าตอง ทราบว่าก่อนหน้านี้ทางเจ้าภาพจัดงานและร่างทรงในพื้นที่และพื้นที่ได้เคียงกว่า 2 พันคน ได้นัดรวมตัวกันที่หอผี บ้านศาลา ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง เพื่อประกอบพิธีฟ้อนรำเพื่อสังเวยผีบรรพบุรุษ ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลใจเกรงว่าจะเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ผู้นำชุมชนในพื้นที่จึงได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ เข้าไปพุดคุยเจรจากับเจ้าภาพผู้จัดงานก่อนจะได้ข้อสรุปดังกล่าว

สำหรับประเพณีฟ้อนผีมด ผีเม็ง คือประเพณีการฟ้อนผีของชาวล้านนา คล้ายกับการลงผี(เข้าทรง)ผีเจ้าพ่อของท้องถิ่นอื่น นิยมเรียกกันว่า “ฟ้อนผีมด-ผีเม็ง” ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง เป็นการฟ้อนรำเพื่อสังเวยผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวล้านนา(ชาวบ้านในท้องถิ่นภาคเหนือ)นับถือกัน เป็นพระเพณีเก่าแก่ที่สันนิษฐานกันว่ารับมาจากชาวมอญ เพราะคำว่า “เม็ง” ภาษาล้านนาหมายถึงชาวมอญ การแต่งกายของผู้เข้าร่วมพิธีก็จะคล้ายกับชาวมอญ ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็งนี้ จะจัดกันภายในสายตระกูล ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา คนเราจะมีผีบรรพบุรุษ (บางครั้งเรียก ผีปู่ย่า หรือ เจ้าปู่เจ้าย่า) ซึ่งหมายถึงผีปู่ย่าตายายญาติผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูลที่เสียชีวิตไปแล้ว ยังคอยปกป้องรักษาคุ้มครองลูกหลานในวงศ์ตระกูล ความหมายในอีกแง่หนึ่ง “ผีมด” หมายถึงผีระดับชาวบ้าน สืบเชื้อสายจากชาวไทใหญ่ ส่วนผีเม็ง หมายถึงผีระดับแม่ทัพนายกอง สืบเชื้อสายจากชาวมอญ ลูกหลานจะทำที่สถิตย์ของผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า “หอผี” ไว้ทางทิศหัวนอนของบ้านผู้เป็น”เก๊าผี” หมายถึงผู้หญิงที่เป็นใหญ่ที่สุดในวงศ์ตระกูล ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงเวลาอันสมควร ก็จะต้องจัดพิธีเพื่อสังเวยผีบรรพบุรุษ อาจจะจัดเป็นรอบทุกๆ2ปีหรือ3ปีแล้วแต่จะกำหนด