เขตสุขภาพที่ 1 ห่วงใยครอบครัวผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วม บูรณาการทีม MCATT ร่วมลงพื้นที่ดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ
วันที่ 30 ส.ค.67 นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง สถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา เบื้องต้นข้อมูลผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รวม 13 ราย เชียงราย 5 ราย น่าน 3 ราย แพร่ 2 ราย และพะเยา 3 ราย ซึ่งส่วนที่สำคัญที่มีความเป็นห่วง คือ ครอบครัวของผู้สูญเสีย เพราะการจากไปของคนสำคัญในชีวิตโดยที่ไม่ทันได้กล่าวคำอำลา เป็นการสร้างความเศร้าโศกแบบเฉียบพลัน และไม่ทันได้เตรียมใจ บางรายมีอาการตกใจสุดขีด ไม่สามารถตั้งสติหรือใช้ชีวิตได้ดังเดิม ทีม MCATT เขตสุขภาพที่ 1 จึงร่วมบูรณาการลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อประเมินสุขภาพใจและดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจครอบครัว ญาติหรือผู้ใกล้ชิดซึ่งถือว่าสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ให้ได้รับการดูแลสุขภาพจิต ป้องกันการเกิดบาดแผลทางใจในระยะยาว
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งอาจสร้างปมบาดแผลทางใจจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งการตอบสนองต่อเหตุการณ์อาจมีความแตกต่างกันบางคนอาจตอบสนองโดยปฏิเสธที่จะยอมรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือ ทุกข์ทรมานกับสิ่งที่เกิดขึ้น อาจเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งและจากนั้นก็จะค่อยๆดีขี้น แต่บางคนไม่สามารถฟื้นฟูสภาวะจิตใจให้ดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง จึงต้องมีทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ (MCATT) เพื่อฟื้นฟูจิตใจของผู้สูญเสีย โดยใช้หลักการปฐมพยาบาลทางจิตใจ (Psychological First Aid: PFA) ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในช่วยเหลือจิตใจ โดยเริ่มต้นจากการพูดคุยอย่างเห็นอกเห็นใจ ไม่ล่วงล้ำ ลดการถามซ้ำๆ หรือตอกย้ำ ไม่ชักจูงให้ผู้สูญเสียนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกกลัว หรือได้รับความไม่สบายทั้งทางกายและจิตใจ ทำความเข้าใจความต้องการและความกังวลของผู้สูญเสีย พยายามควบคุมสถานการณ์ทางจิตใจให้สงบลง เน้นย้ำให้ระมัดระวังเรื่องการใช้คำพูด เพื่อไม่ให้กระทบต่อความรู้สึกหรือเกิดบาดแผลซ้ำๆ ในจิตใจของผู้สูญเสีย ไม่สร้างคำถามที่ทำให้รู้สึกคุกคามหรือทำให้ต้องกลับไปคิดวนซ้ำแล้วซ้ำอีก และจะต้องไม่ทำให้ผู้อยู่ในเหตุการณ์รู้สึกผิด ถ้าหากบาดแผลทางใจปล่อยทิ้งไว้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาสภาวะด้านจิตใจให้เป็นปกติจะส่งผลเสียอาจทำให้เกิดเป็นโรควิตกกังวล แพนิค โรคซึมเศร้า ซึ่งนำไปสู่โรคเครียดหลังเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ PTSD (Post-traumatic stress disorder) ซึ่งความเครียดนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ว่าที่ร้อยโทโฆษิต กัลยา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 กล่าวว่า กลไกสำคัญที่จะช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับการสูญเสีย คือ คนในชุมชนหรือคนรอบข้าง เช่น บ้านใกล้เรือนเคียง แกนนำชุมชน อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยครอบครัวของผู้เสียชีวิตเหล่านั้นให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งเบื้องต้นใช้วิธีการ 3 ส. สอดส่อง ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อ ทั้งนี้ ส1.คือ สอดส่องเพื่อรับรู้ถึงสถานการณ์ และวิเคราะห์การช่วยเหลือ ส2. คือ ใส่ใจรับฟัง บางครั้งการได้ระบายเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาได้โดยง่าย และ ส3.คือ ส่งต่อหากพบว่าอาการเศร้าโศกไม่ทุเลาก็สามารถส่งต่อด้วยการแนะนำบริการทางสุขภาพจิต หรือหน่วยบริการใกล้บ้านเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทีม MCATT ในพื้นที่จะเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่องทุกครอบครัว จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว แนะนำให้ช่วยสังเกตพฤติกรรม อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ให้การดูแล เยียวยาจิตใจ และประคับประคองจิตใจผู้ที่ต้องประสบกับความสูญเสียให้ผ่านพ้นความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ เน้นย้ำ การรับฟัง ให้การสนับสนุน แสดงออกถึงการให้กำลังใจ และไม่ตอกย้ำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ปรับตัวและก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤต สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ หากอาการยังไม่ดีขึ้น ประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.เจ้าหน้าที่
สาธารณสุข หน่วยบรรเทาสาธารณภัยหรือกู้ชีพกู้ภัย โทร.1784 หรือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อส่งต่อทีม MCATTโรงพยาบาลหรือสาธารณสุขในพื้นที่ต่อไป /ข้อมูลโดย ทีม EOC (Emergency Operation Center) เขตสุขภาพที่ 1
เรื่องมาใหม่
- (คลิป) เชียงราย เพื่อไทยเปิดตัว ผู้สมัครชิงนายก อบจ. ทักษินส่งวีดีโอพิเศษ ขอเสียงคนเชียงรายเทคะแนนเลือกตั้ง
- (คลิป) เชียงราย อากาศหนาว นักท่องเที่ยวแห่จองห้องพักจนเต็มยาวถึงปีหน้า
- ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน รองเลขานายกฯ ยืนยัน ท่องเที่ยวปลอดภัย ไม่มีเหตุการณ์ปะทะฝั่งตรงข้ามแนวชายแดน
- แม่ฮ่องสอน แข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 72 ปีการศึกษา 2567
- ขสป.สาละวิน เคาะประตูบ้าน 10 หมู่บ้าน 40 หย่อมบ้าน ตั้งเป้าลดการเผาไหม้พื้นที่ป่า 30% ในปี 2568