วันศุกร์, 27 ธันวาคม 2567

แม่ทัพภาค 3 เรียกประชุมคณะกรรมการฯ แก้ไขปัญหายาเสพติดภาคเหนือ 8 จังหวัดเข้าประชุมด่วน เร่งปราบยาเสพติด โดยเฉพาะลักลอบขนผ่านระบบโลจิสติกส์ ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสารตั้งต้น

Social Share

แม่ทัพภาค 3 เรียกประชุมคณะกรรมการฯ แก้ไขปัญหายาเสพติดภาคเหนือ 8 จังหวัดเข้าประชุมด่วน เร่งปราบยาเสพติด โดยเฉพาะลักลอบขนผ่านระบบโลจิสติกส์ ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสารตั้งต้น

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 28 ส.ค. 66 พลโท สุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 ประธานคณะกรรมการ ศูนย์อำนวยการปฎิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ ได้เปิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ หน่วยงานฝ่ายทหาร ตำรวจ ปปส. หน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมธาราทองโรงแรมเซ็นทาราริเวอร์ไซด์เชียงใหม่

พลโท สุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 ประธานคณะกรรมการ ศูนย์อำนวยการปฎิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ (ศอ.ปส.ชน.) ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา โดยมีผลการตรวจยึด/จับกุม จำนวน 451 ครั้ง ผู้ต้องหา 496 ราย ตรวจยึด ยาบ้า 91,263,986 เม็ด, ไอซ์ 3,582.98 กก., เฮโรอีน 28.77 กก., ฝิ่นดิบ 270.87 กก., เคตามีน 363.25 กก. อีกทั้ง หน่วยยังได้ให้ความสำคัญในการสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้าสู่แหล่งผลิต และการลักลอบขนส่งยาเสพติดผ่านระบบโลจิสติกส์ ด้วย โดยได้ดำเนินการตรวจการนำเข้า และการใช้สารเคมีควบคุม ในโรงงานอุตสาหกรรม, การกวดขันการส่งออกสารเคมีผ่านด่านพรมแดน, ตรวจการขนส่งทางบกในห้วงเทศกาลสำคัญ, ตรวจสถานประกอบการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ตลอดจนเชิญผู้ประกอบธุรกิจสถานประกอบการขนส่งสินค้า ร่วมประชุม หารือ ขอความร่วมมือ และกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นอกจากงานด้านการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดแล้ว หน่วยได้มีการปฏิบัติอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่น จัดทำ “โครงการชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ” ในพื้นที่หมู่บ้านชุมชนเป้าหมาย เพื่อสร้างแนวร่วมในการสกัดกั้นไม่ให้หมู่บ้านถูกนำไปใช้เป็นเส้นทางผ่าน หรือพักยาเสพติด โดยดำเนินการ ปลูกฝัง สร้าง การรับรู้พิษภัยของยาเสพติดให้กับเยาวชน, การฝึกอบรมราษฎรอาสาป้องกัน ภัยยาเสพติด, การค้นหา คัดกรองผู้เสพผู้ติดยาเสพติดให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา เป็นต้น

จัดทำ ระบบฐานข้อมูลกลางยาเสพติด (Drugs Data Center) เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่น ข้อมูลยาเสพติด, สารเคมี, กระบวนการผลิต, พื้นที่แหล่งผลิต, แหล่งพัก, เส้นทาง และรูปแบบการลำเลียง ข้อมูลบุคคล และเครือข่าย เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ หน่วยงานด้านยาเสพติดสามารถเข้าไปเรียนรู้ สืบค้นข้อมูล และนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ วางแผนการปฏิบัติงาน รวมทั้งสามารถใช้ตรวจสอบ และติดตามบุคคลผ่านระบบโทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย

แนวโน้มสถานการณ์ยาเสพติด ในปัจจุบันยังคงมีความรุนแรง เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดหลักในประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมีเสรีในการผลิต ประกอบกับมีการลักลอบนำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์จากประเทศจีนและอินเดียเข้าสู่แหล่งผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงพื้นที่ปลูกฝิ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงอาจทำให้แนวโน้มการผลิตฝิ่นและเฮโรอีนเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ การลักลอบขนส่งยาเสพติดผ่านทางระบบโลจิสติกส์ในประเทศ มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบพัสดุภัณฑ์ เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อย ต้นทุนต่ำ รวดเร็ว และสามารถส่งถึงผู้รับได้โดยตรง ยาบ้ายังเป็นยาเสพติดหลักที่มีการใช้และแพร่ระบาดมากที่สุด และควรเฝ้าระวังสารเสพติดรูปแบบใหม่ในกลุ่มนักเที่ยวสถานบันเทิง (กลุ่ม Club Drugs) ด้วย

เปรียบเทียบสถิติในห้วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา มีการจับกุม ยาบ้า ลดลง ร้อยละ 31 และไอซ์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 80 การจับกุมนอกพื้นที่มีการจับกุมรายสำคัญ 61 ครั้ง ของกลางยาบ้า หนึ่งร้อยห้าสิบล้านเม็ดเศษ (150,055,885 เม็ด), ไอซ์ 10,738 กก., เฮโรอีน 120 กก., และ เคตามีน 2,885 กก. โดยมีสถิติการจับกุม ยาบ้าลดลง ร้อยละ 23 และ ไอซ์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 61 และแนวโน้มสถานการณ์ปัจจุบันถึงแม้ว่ารัฐบาลเมียนมา จะมีความพยายามในการสกัดกั้น และปราบปราม แต่ก็เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้ ส่วนในพื้นที่อิทธิพลของเขตปกครองตนเองในรัฐฉานเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตหลัก ยังคงมีเสรีในการผลิต ประกอบกับ ยังมีการลักลอบนำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ จากประเทศจีนและอินเดียเข้าสู่แหล่งผลิต

พื้นที่ปลูกฝิ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่อิทธิพลในรัฐฉานใต้ มีการสนับสนุนให้ประชาชนปลูกฝิ่นได้ตลอดทั้งฤดูกาล จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวโน้มการผลิตฝิ่น และเฮโรอีนเพิ่มขึ้น การลักลอบลำเลียงผ่านแนวชายแดนเข้าสู่เขตไทย นอกจากทางด้านชายแดนภาคเหนือแล้ว ในห้วงที่ผ่านมา มีการใช้พื้นที่ทางด้าน สปป.ลาว เป็นเส้นทางลำเลียงผ่านยาเสพติด เพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มขบวนการ สร้างอิทธิพลในพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ประสาน แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ในการลักลอบเข้าสู่ชายแดนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย การลักลอบลำเลียงเข้าสู่พื้นที่ตอนใน ปัจจุบัน พบการลักลอบขนส่งยาเสพติด ผ่านทางระบบโลจิสติกส์ มากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบพัสดุภัณฑ์ เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อย ใช้ต้นทุนต่ำ รวดเร็ว และสามารถส่งถึงผู้รับได้โดยตรง ซึ่งในปี 2566 นี้ พบการจับกุมในระบบโลจิสติกส์ ที่มีการส่งจากต้นทางในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ จำนวน 18 ครั้ง ของกลาง ยาบ้า เจ็ดล้านห้าแสนเม็ดเศษ (7,515,098 เม็ด), ไอซ์ 350 กก., เฮโรอีน 20 กก. และเคตามีน 104 กก. ส่งไปยังปลายทางในพื้นที่ ภาคกลาง ภาคใต้ และต่างประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ไต้หวัน อเมริกา และอิสราเอล

ยาบ้า ยังคงเป็นตัวยาเสพติดหลักที่มีการใช้ และแพร่ระบาดมากที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำ หาซื้อง่ายราคาถูก อีกทั้ง ยังควรเฝ้าระวังสารเสพติดรูปแบบใหม่ ในกลุ่มนักเที่ยวสถานบันเทิง (กลุ่ม Club Drug) ดังนั้น แนวโน้มสถานการณ์ยาเสพติดในห้วงต่อไป ทั้งการผลิต การค้า การนำเข้า รวมถึงการใช้ จึงยังคงมีความต่อเนื่อง

นอกจากงานด้านการสกัดกั้นและการแก้ไขปัญหายาเสพติดแล้ว หน่วยยังได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยได้จัดทำระบบฐานข้อมูลกลางยาเสพติด หรือ (Drugs Data Center) เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่น ข้อมูลยาเสพติด สารเคมี กระบวนการผลิต พื้นที่แหล่งผลิต แหล่งพัก เส้นทางและรูปแบบการลำเลียง สถานการณ์ สถิติการจับกุม ข้อมูลกลุ่มบุคคล และเครือข่าย รวมทั้ง ความรู้ด้านกฎหมาย นโยบาย แผนและคำสั่งต่างๆ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ล้วนเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการใช้วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ และวางแผนในการปฏิบัติงาน อีกทั้ง ยังเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ ในการใช้ตรวจสอบ และติดตามบุคคลต้องสงสัย ด้วยระบบโปรแกรมเครือข่าย ซึ่งสามารถค้นหาและตรวจสอบ รายชื่อ ทะเบียนรถ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ นอกจากนั้น ระบบ ยังเป็นแหล่งข้อมูลให้กับหน่วยงานด้านยาเสพติด สามารถเข้าไปเรียนรู้ และสืบค้นข้อมูล เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วย อีกด้วย