ผวจ.เชียงใหม่ ยืนยันปีนี้น้ำเยอะ หน้าแล้งน้ำมีเพียงพอ มีการปลูกข้าวและพืชผลเกินแผน 1 แสนไร่ มั่นใจเพียงพอ พร้อมเตรียมหารือวางแผนป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและแผนเพาะปลูกให้เกษตรกรในอนาคต
วันที่ 18 ต.ค. 65 นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์เชียงใหม่สัญจร ครั้งที่ 3 ณ ห้องประชุมโครงการชลประทานเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนจัดสรรน้ำและบริหาร สำนักงานชลประทานที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมแถลงข่าว
นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำในที่ประชุมว่า ทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ นอกจากดูเรื่องสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่ชลประทานแล้ว ก็ได้มีการดูเรื่องของพื้นที่นอกเขตชลประทานด้วย ก็มีน้ำตามลำห้วยที่มีปริมาณมากขึ้น จากปกติน้ำจะลดลงในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะมีการยืดออกไป รวมถึงแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก อ่างแก้มลิง คลอง บึง จากที่ได้รับรายงานมา จะมีปริมาณน้ำเต็มทุกที่ คาดว่าในฤดูแล้งปีนี้จังหวัดเชียงใหม่จะไม่ประสบภัยแล้ง
นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนจัดสรรน้ำและบริหาร สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือพบว่า ช่วงปลายเดือนตุลาคม จะมีปริมาณฝนตกลงมาอีกเพียงเล็กน้อย วันที่ 22 – 23 ตุลาคม จากสถานการณ์น้ำที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นลุ่มน้ำปิงตอนบน เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่จะส่งไปยังเขื่อนภูมิพล ทำให้ปริมาณน้ำในปีนี้ส่งไปเกินกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างเยอะ และยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าไปเพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ปริมาณน้ำปัจจุบัน 259.37 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 97.88 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ปริมาณน้ำ 235.62 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 89.59 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 19 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 13. ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 93 เปอร์เซ็นต์ และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 189 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 83 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84 เปอร์เซ็นต์ และแสดงให้เห็นชัดเจนว่าน้ำมีปริมาณที่มากขึ้นอย่างชัดเจนมากที่สุดคือ อ่างเก็บน้ำแม่ตูบ จากเดิมที่มีปริมาณน้ำ 20 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีน้ำเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
การจัดการน้ำฤดูแล้งจะจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค โดยมีสถานีสูบน้ำเพื่อการประปา ทั้งหมด 8 สถานี ให้การเชื่อมั่นได้ว่าน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาเพียงพออย่างแน่นอน ส่วนที่สองเป็นการจัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ช่วงฤดูแล้ว ก็จะพิจารณาดูแหล่งน้ำในพื้นที่หากไม่เพียงพอจะนำน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลเข้ามาเสริม ตั้งแต่อำเภอแม่แตง จนถึงทะเลสาบดอยเต่า ส่วนที่สาม จะวางแผนสำรองไว้เพื่อจะให้ถึงช่วงฤดูฝนปี 66 เผื่อมีเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วง ก็จะได้มีน้ำสำรองไว้เพิ่ม และปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรและการจัดสรรน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ในภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำในปีที่ผ่านมา จัดแผนเพื่อการเกษตร จำนวน 214,000 ไร่เศษ มีการปลูกเกินแผน ร้อยละ 5 แต่มีการจัดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพทำให้พื้นที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ ไม่มีพื้นที่ขาดแคลนน้ำ สำหรับฤดูแล้งปี 65/66 จะเริ่มการเพาะปลูกในเดือนธันวาคม ปี 65 หรือต้นเดือนมกราคม ปี 66 จะมีแผนปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 149,000 ไร่ เมื่อรวมกับพืชอื่นๆ ที่มีการปลูก รวมทั้งหมด 386,000 กว่าไร่ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่ามีการปลูกเพิ่มขึ้น 100,000 กว่าไร่ ปริมาณน้ำในปีนี้เพียงพอสำหรับส่งให้พื้นที่การเกษตรทั้งหมด
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวภายหลังการรับฟังรายงานว่า จากฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เกิดผลกระทบทั้งหมด 18 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายและการเยียวยา ในเรื่องการรับมือในปีถัดไป ซึ่งฝนปีนี้มีการตกมากถึง 1,800 มม. จึงได้ขอไปทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ขอให้ตั้งงบสำรวจ ออกแบบ ระบบป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ทั้งหมด และโบราณสถานเวียงกุมกาม จะทำอย่างไรให้รับปริมาณน้ำปิงล้นตลิ่ง เมื่อมีฝนตกหนักจะมีการสูบน้ำออกอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ และนำมาใช้งานในจังหวัดเชียงใหม่ อย่างน้ำท่วมหนัก 10 ปีรอบ ก็จะให้น้ำท่วมเชียงใหม่น้อยลง จากเดิมน้ำปีนี้ท่วมเยอะคาดว่าน่าจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ แต่สามารถใช้เวลาเพียง 3 วันก็ทำให้น้ำลดเข้าสู่ภาวะปกติในหลายๆ ที่ทำให้ความเสียหายที่น้ำท่วมไม่กี่วัน ก็กลับคืนมาเร็ว ผู้ประกอบการยังเดินต่อไปได้ ในภาคเกษตรสวนลำไย ก็ทำให้น้ำลดลงอย่างรวดเร็วโดยที่ใบยังไม่เหลือง ต้นยังไม่เน่า ต้นลำไยก็จะไม่ตายเยอะเหมือนปี 54 ซึ่งในปีนี้แก้ไขได้จึงไม่เกิดความเสียหายเยอะ แต่ที่ไหนได้รับความเสียหายก็จะเยียวยาไปตามที่ได้รับผลกระทบ ก็ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งชลประทาน และทุกหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และช่วยกันฟื้นฟูหลังน้ำลดให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะเดียวกันได้มีการเตรียมแผนในด้านการเพาะปลูกในอนาคต โดยจะให้เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เข้ามาพูดคุยกับทางชลประทาน รวมถึงพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือการเพาะปลูกและการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และดูพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสมว่าปลูกพืชชนิดไหนได้ผลดีกับพื้นที่มากที่สุด มีราคาน่าพอใจ ไม่ทำให้ผลผลิตล้นตลาด หากผลผลิตมากเกินไปจะล้นตลาดต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อหาตลาดที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องเกษตรกร
เรื่องมาใหม่
- (คลิป) ตำรวจท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน ร่วมกู้ภัย และชาวบ้าน เร่งค้นหานักท่องเที่ยวเดินหลงป่าบ้านยะโป๋
- ผู้ว่าแม่ฮ่องสอนมั่นใจลดไฟป่าหมอกควันได้แน่นอนร้อยละ 50 ในปี 68 เตรียมมาตรการพร้อมบูรณาการทุกภาคส่วน
- แม่ฮ่องสอน อากาศหนาวเย็นจัด ส่งผลกระทบกับชาวบ้านที่อาศัยบนเทือกเขาสูง
- สืบ สภ.แม่สะเรียงแกะรอยรถพ่วงเฉี่ยวชนแล้วหนี จำนนด้วยหลักฐาน รุดมอบตัว แจ้ง 3 ข้อหาหนัก
- (คลิป) เชียงราย ชวนเที่ยวป่าส้มแสง สัมผัสธรรมชาติ วิถีชีวิต ป่าชุ่มน้ำอัตลักษณ์หนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน