วันพฤหัสบดี, 21 พฤศจิกายน 2567

sacit ชูหัตถกรรม น้ำต้น – แกะสลักไม้ – ดุนโลหะ ชาวล้านนา สืบสานและส่งต่อมรดกทางภูมิปัญญาสู่คนรุ่นใหม่

Social Share

sacit หรือ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ชูงานศิลปหัตถกรรมไทยชาวล้านนา น้ำต้น – แกะสลักไม้ – ดุนโลหะ ชั้นบรมครู ส่งต่อมรดกทางภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่า ควรค่าแก่การสืบสาน และต่อยอดสู่คนรุ่นหลังต่อไป

นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า sacit มีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญอีกด้าน คือ การส่งเสริมคุณค่าบุคคลผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมที่มีความรู้ ความชำนาญ มีทักษะฝีมือ ในงานศิลปหัตถกรรมไทยพื้นบ้าน อนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สั่งสมสืบทอดจากบรรพบุรุษ สะท้อนถึงศาสตร์และศิลป์เชิงช่างในสาขาต่างๆ ให้ดำรงคงอยู่โดยไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา เพราะเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าเป็นผู้ที่สืบสานและรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่มาตั้งแต่อดีต ซึ่งปัจจุบันกลุ่มผู้สร้างสรรค์มีอายุมากขึ้นและอาจขาดทายาท

ผู้สืบสานภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย sacit จึงได้มีกิจกรรมเฟ้นหาและเชิดชูเกียรติบุคคลเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” เป็นประจำทุกปี ปัจจุบันนำมาเชิดชูแล้วกว่า 438 ราย และได้ดำเนินการรวบรวมชีวประวัติ ผลงาน และองค์ความรู้ในการทำงานศิลปหัตถกรรมของผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติแต่ละประเภท โดยเฉพาะในงานหัตถกรรมที่กำลังจะสูญหาย หรือเหลือผู้ทำน้อยรายให้คงอยู่ดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยสืบต่อไป

การนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน ได้แก่ งานน้ำต้น , งานดุนโลหะ และงานแกะสลักไม้ เป็นต้น

“น้ำต้น” หรือ “คนโท” เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่อยู่ในวิถีชีวิตชาวล้านนามาช้านาน นอกจากจะใช้เป็นภาชนะใส่น้ำ ยังเป็นภาชนะใช้ใส่ดอกไม้บนแท่นบูชาและในพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งเป็นเครื่องประกอบ ยศของชนชั้นสูงในสมัยโบราณ ปัจจุบันครูสมทรัพย์ ศรีสุวรรณ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2563 ผู้อนุรักษ์และสืบสานงานภูมิปัญญาการปั้นน้ำต้นของชาวล้านนาที่เกือบจะสูญหายไปจากแผ่นดินให้กลับมาคงอยู่ได้ ในปัจจุบัน ตั้งแต่การเตรียมดิน การนวดดินเหนียว นำมาขึ้นรูปบนแป้นหมุนไม้ที่ยังคงใช้แรงคนหมุน และตกแต่งลวดลายด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เขาควาย” ตกแต่งผิวดินภายนอกให้เกิดเป็นลวดลายต่างๆ มาขูดขีด สลักลาย พิมพ์ลาย กดลาย ให้เกิดเป็นลวดลายเอกลักษณ์น้ำต้นโบราณ ซึ่งทุกกระบวนการล้วนเป็นภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าที่ส่งต่อภูมิปัญญากันมานับหลายร้อยปี

“งานดุนโลหะ” หรือ ภาษาถิ่นล้านนาจะเรียก ดุนลาย ว่า ต้องลาย หรือ ต้องครัว สร้างสรรค์โดย ครูดิเรก สิทธิการ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2554 และนายพิชิต นะงอลา ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2562 ทั้งสองท่านยังคงเอกลักษณ์งานดุนโลหะตามขนบและลวดลายแบบดั้งเดิม และมีฝีมือที่ละเอียดลออ รวมถึงยังได้พัฒนารูปแบบ ลวดลาย วัสดุในการทำงานดุนโลหะสลักเงินให้มีความทันสมัย เหมาะกับยุคและความต้องการของตลาดมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตให้หาง่ายและทันสมัยขึ้น อย่างเช่น ทองแดง อลูมิเนียม ในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน เพื่อเพิ่มสีสันเพิ่มมิติให้กับงานนั้น ๆ มากขึ้น รวมถึงลวดลายได้มีการนำลวดลายไทยและล้านนาแบบดั้งเดิมมาผสมผสานกับศิลปะร่วมสมัย ออกจำหน่าย ขยายตลาดให้มากขึ้น สำหรับผลงานของนายพิชิต นะงอลา ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2562 อีกหนึ่งผู้สืบทอดภูมิปัญญางานดุนโลหะจากครูดิเรก นำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีเอกลักษณ์ที่ความชัดเจนของลวดลาย ละเอียด อ่อนช้อย งดงามรอบด้านในรูปแบบลอยตัว เช่น ผลงานที่ชื่อว่า “ไตรภูมิ” ที่นำโลหะ ทั้ง 3 ชนิด (ทองเหลือง ทองแดง และอะลูมิเนียม) มารวมไว้ในชิ้นงานเดียว จนได้มีโอกาสนำผลงานดุนโลหะ “ปลาอานนท์” ไปอวดโฉมปรากฏสายตาชาวโลกให้เป็นที่ประจักษ์ในความงดงามและคุณค่าจากภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ผสมผสานกับจินตนาการอันกว้างไกลด้วยฝีมือคนไทย ที่งาน Revelations 2019 ณ Grand Palais กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ผ่านมาอีกด้วย