วันที่ 14 ธันวาคม 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมคณะฯ ลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งโครงการฯ ดำเนินการประชุมรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) โดยมี นายฉัตรเทพ เพิ่มทรัพย์ ปลัดอาวุโสฯ รักษาการนายอำเภอเชียงดาว เป็นประธานเปิดการประชุมฯ และ นายพรมงคล ชิดชอบ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 1 สำนักงานบริหารโครงการกรมชลประทาน กล่าวรายงาน ด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่โครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มชาวบ้าน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเข้าร่วมประชุม ณ หอประชุมเทศบาลตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ด้าน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสิ่งที่ราษฎรบ้านแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือทูลเกล้าถวายฎีกา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประสบปัญหาด้านแหล่งน้ำ ทางกรมชลประทานจึงได้เข้ามาตรวจสอบในช่วงปี 62 – 64 และมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ก็ได้แนวทางที่ชัดเจนที่จะนำมาพัฒนาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อ
วันนี้ทางกรมชลประทานก็ได้มาทำปัจฉิมนิเทศน์บพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในช่วง 2 – 3 ปี ทางกรมชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 1 และโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้เข้ามาสอบถามความต้องการของพี่น้องประชาชนและทำการสำรวจพื้นที่ ซึ่งพี่น้องประชาชนมีความประสงค์ที่อยากจะให้เร่งทำการก่อสร้าง โดยอ่างเก็บน้ำที่จะก่อสร้างมีความจุประมาณ 4.16 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ด้านการเกษตร 4,500 ไร่ สภาพภูมิประเทศของอำเภอเชียงดาว ก็จะเป็นพืชไร่ เช่น หอม กระเทียม ข้าวโพด เมื่อได้น้ำประมาณ 4.16 ล้าน ลบ.ม. ก็สามารถที่จะพัฒนาการปลูกด้านการเกษตรได้มากขึ้น ไม่ว่าจะปลูกลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง ก็อาจจะมีรายได้ที่มากขึ้น บางพื้นที่ก็อาจะเป็นการเกษตรการทำนา
ส่วนรูปแบบการส่งน้ำจะทำการส่งตามลำคลองเดิมของห้วยแม่อ้อ ที่มีฝายอยู่หลายตัวแล้วส่งเข้าแปลงการเกษตร บางพื้นที่จะนำน้ำ และอ่างเก็บน้ำที่สร้างนี้อยู่ค่อนข้างสูง ก็จะต้องใช้ท่อส่งน้ำเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและการเกษตร อีกเรื่องก็ดูเรื่องของการเพาะพันธุ์ประมง เมื่อมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วทางกรมชลประทานก็จะมีการปล่อยพันธุ์ปลา เพาะขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำ เพื่อให้เกษตรกรได้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อมีอ่างเก็บน้ำที่อำเภอเชียงดาว ก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย เพราะสภาพภูมิประเทศของพื้นที่มีป่าไม้ แหล่งน้ำ มีอากาศเย็นที่บริสุทธิ์ ก็จะส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวได้ด้วย
การศึกษาผลกระทบในปี 64 ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว แต่บางพื้นที่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว 67 ไร่ โดยจะมีการขอใช้พื้นที่ในปี 2565 – 2566 จากนั้นก็จะดำเนินการออกแบบตัวอ่างเก็บน้ำ ท่อส่งน้ำ และประตูระบายน้ำ และในปี 2567 ก็จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้เวลาก่อสร้าง รวม 4 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ประมาณ 550 ล้านบาทในการก่อสร้าง และบริเวณรอบพื้นที่อ่างก็จะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ มีเส้นทางการสัญจร ดูแลเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม มีการจ่ายค่าชดเชยให้กับป่าไม้ที่ถูกตัดไป และผลกระทบกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และได้รับผลกระทบ ก็จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ ซึ่งกรมชลประทานก็จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบทุกหน่วยงานด้วย
เรื่องมาใหม่
- โรงเรียนบ้านแม่สวรรค์น้อย จัดกิจกรรมวันเด็ก สร้างรอยยิ้ม สุขสนุกสนาน อิ่มหนำสำราญกันทั่วหน้า
- อำเภอแม่สะเรียง ส่งมอบอุปกรณ์น้ำประปา ให้ ทหารพรานที่ 36 ติดตั้งชุมชนชายแดนไทย-เมียนมาร์ ป้องกันแก้ไขภัยแล้ง
- กกต.แม่ฮ่องสอน ให้ความรู้ที่เท่าทันในการกระทำผิดทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
- แม่ฮ่องสอน เร่งสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวให้เที่ยวได้ตลอดปี เหมือนปี 67 รายได้สูงกว่า 8 พันล้านบาท
- (คลิป) เชียงราย ฝูงบิน 416 จัดวันเด็กจุใจในรอบ 30 ปี