วันจันทร์, 23 ธันวาคม 2567

กรรมการกฎบัตรแห่งชาติ ระดมสมองพัฒนาเมืองเชียงใหม่ นำร่องให้เป็นเมืองอาหารปลอดภัย SMART BLOCK และขนส่งสีเขียว

Social Share

กรรมการกฎบัตรแห่งชาติ ระดมสมองพัฒนาเมืองเชียงใหม่ พร้อมนำร่องให้เป็นเมืองอาหารปลอดภัย SMART BLOCK และขนส่งสีเขียว

8 มีนาคม 2563 : ที่สำนักงานชั่วคราวย่านนิมมานเหมินท์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายมารุต ศิริโก รองประธานคณะกรรมการกฎบัตรแห่งชาติ ได้ประชุมคณะกรรมการ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องกฎบัตรเชียงใหม่ กับการพัฒนาเมือง 15 สาขา เพื่อร่วมมือกับทุกภาคส่วนพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองต้นแบบอย่างยั่งยืน ภายใต้การงบประมาณสนับสนุนการศึกษาวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมี นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย นายภูวนารถ ยกฉวี คณะกรรมการกฎบัตรรัตนโกสินทร์ นายจิรกร สุวงศ์ กรรมการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะนักวิจัยกฎบัตรเชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้

โดยในที่ประชุม ได้สรุปแนวทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ไว้ทั้งหมด 3 ด้าน ด้านแรก มุ่งเน้นการทำสมาร์ทฟาร์ม ให้เป็นเกษตรปลอดภัย เพื่อพัฒนาเป็นเมืองอาหารปลอดภัยในอนาคต ด้านที่สอง พัฒนาแฟลตฟอร์ม (Smart Block) ที่มุ่งเน้นในการใช้พื้นที่ในเส้นทางต่างๆ ที่เป็นถนนสายวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้านที่สาม เป็นการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสีเขียว ปลอดมลภาวะ โดยเบื้องต้นได้กำหนดแผนการพัฒนาไว้ทั้งหมด 3 ปี ซึ่งจะมุ่งพัฒนาในเขตเมืองเก่า และบริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่ ในรัศมี 2.5 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบแรก เพื่อที่จะใช้เป็นโมเดลในการต่อยอดไปยังพื้นที่อื่น

 

นายมารุต ศิริโก รองประธานคณะกรรมการกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาด้านแรกที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดคือด้านการเกษตร ที่จะมุ่งไปสู่ด้านอาหารปลอดภัย ด้วยการนำร่องระบบสมาร์ทฟาร์ม ต้นแบบ 20 แห่ง จากผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 50 แห่ง เพื่อยกระดับการผลิตแบบสมาร์ทฟาร์มดั้งเดิม ให้มีแนวคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ และมีมาตรฐานที่เพิ่มขึ้น เช่น ข้าว กาแฟ โคนม ไก่พันธุ์ และสวนดอกไม้ พื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องลดการใช้สารเคมีแบบ 100% เพราะการมุ่งหวังให้เกิดเกษตรปลอดภัย และทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตลงได้ 20 30% เมื่อต้นทุนการผลิตต่ำลง ก็สามารถที่จะขายได้ในราคาถูกกว่าท้องตลาด และทำให้เกิดกระแสคนเข้ามาซื้อจำนวนมากขึ้น ได้ทั้งผลผลิตถูกและปลอดภัย โดยการศึกษาครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และคณะทำงานกฎบัตรเชียงใหม่ ที่จะออกแบบสมาร์ทฟาร์มต้นแบบ และเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ เป้าหมายภายใน 10 ปี พื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จะต้องมีพื้นที่อาหารปลอดภัยอย่างน้อย 40%

สำหรับเรื่องของ SMART BLOCK อาจจะไม่คุ้นเคย แต่ความหมายคือ ต้องการพัฒนาให้เกิดเมืองเชิงสร้างสรรค์ นำพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันภายในชุมชน ภายในเส้นทางแหล่งท่องเที่ยว เป็นการบูรณากันระดับจังหวัด ลงไปถึงหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่จะฟื้นฟูโครงการถนนคนเดินสายพระปกเกล้า ให้กลายเป็นนถนนสายเอกลักษณ์ท้องถิ่น ศึกษาวิถีชีวิตชุมชนต้นแบบ เพราะปัจจุบัน จะเห็นว่าพื้นที่การใช้ประโยชน์บางอย่างถูกปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้นำมาใช้ แต่จากการศึกษาแล้วก็พบว่า เส้นทางบางแห่งสามารถที่จะปรับภูมิทัศน์ และนำมาใช้ประโยชน์ได้ ก็จะส่งผลดีต่อชุมชน และประชาชนที่อยู่โดยรอบ

ส่วนด้านระบบขนส่งสีเขียว ที่จะมาเป็นระบบขนส่งสาธารณะอีกรูปแบบหนึ่ง โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการใช้แอปพลิเคชันเข้ามา ทำให้เกิดความสะดวก โดยผู้ที่จะเดินทาง เมื่อโหลดแอปพลิเคชั่นไปแล้ว ก็สามารถตรวจสอบได้ว่า เมื่อจะเดินทางออกจากบ้าน หรือจากจุดต่างๆ รถจะมาถึงเมื่อไหร่ และจะเดินทางไปถึงที่หมายได้ในเวลาประมาณเท่าไหร่ ก็จะทำให้ผู้ที่จะเดินทางสามารถคำนวณระยะเวลาการเดินทางได้ เมื่อทุกคนมาใช้กันมากขึ้นก็จะลดปัญหาการแออัดเรื่องของการนำรถส่วนบุคคลมาใช้ ลดมลพิษบนท้องถนนได้ ซึ่งการจะพัฒนาได้ ก็ต้องต้องได้รับความร่วมมือจากระบบขนส่งที่มีอยู่ อาทิ รถเมล์ของทางเทศบาลนครเชียงใหม่ รถเมล์ RTC รวมถึงไประบบขนส่งสี่ล้อแดงที่มีจำนวนมากในพื้นที่ หากมีการจัดระบบทุกอย่างแล้ว ก็เชื่อว่าจะพัฒนาไปสู่ระบบขนส่งสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมได้

ด้าน นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กล่าวว่า คณะทำงานกฎบัตรระดับจังหวัด ได้มีการนำร่อง 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ อุดรธานี นครสวรรค์ สระบุรี ระยอง ภูเก็ต ซึ่งในแต่ละจังหวัดก็จะมีจุดเด่นเป็นของตนเอง เป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และพร้อมดำเนินโครงการ แต่การพัฒนาในแต่ละจังหวัดก็จะขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ เพราะในแต่ละที่จุดเด่นก็แตกต่างกัน แต่ทุกจังหวัดจะมีเป้าหมายเดียวกันคือ มุ่งการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต การสร้างงาน สร้างรายได้สู่ท้องถิ่นเป็นหลัก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย