วันจันทร์, 23 ธันวาคม 2567

ต้นกุมภา ถึงเวลาเปิดฤดูกาลล่า “ทางช้างเผือก” ยามเช้า

Social Share

ต้นกุมภา ถึงเวลาเปิดฤดูกาลล่า “ทางช้างเผือก” ยามเช้า

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดฤดูกาลล่า “ทางช้างเผือก” เผยช่วงเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน จะเห็นใจกลางทางช้างเผือกเด่นชัด ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู สังเกตได้ทุกภูมิภาคของประเทศ บริเวณที่มืดสนิทไร้แสงเมืองรบกวน

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ต้นเดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นถ่ายภาพ “ทางช้างเผือก” ตั้งแต่เวลาประมาณตี 5 เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือตั้งแต่วันที่ 1 จนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ (หลังจากนั้นจะมีแสงดวงจันทร์สว่างรบกวน) ตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่ขนานกับขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หมายความว่าจะมีเวลาให้เราเก็บภาพทางช้างเผือกประมาณไม่เกิน 1 ชั่วโมง ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ถือเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลออกล่าทางช้างเผือกยามเช้า และนอกจากใจกลางทางช้างเผือกที่น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังมีดาวเคราะห์ให้ชมอีก 3 ดวง ได้แก่ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ที่ปรากฏใกล้กับแนวทางช้างเผือกอีกด้วย

เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปในช่วงรุ่งเช้า แนวใจกลางทางช้างเผือกจะเริ่มปรากฏบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขนานกับเส้นขอบฟ้า ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. จนถึงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เวลาดังกล่าวยังมีดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดีปรากฏบริเวณด้านซ้าย และดาวอังคารอยู่บริเวณเหนือใจกลางทางช้างเผือกอีกด้วย และตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป เราจะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ แนวใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้ามากขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปลายเมษายน แนวใจกลางทางช้างเผือกจะค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางเป็นแนวพาดบริเวณกลางฟ้า ช่วงนี้จะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป สามารถชื่นชมความสวยงามและบันทึกภาพทางช้างเผือกได้ยาวนานขึ้น

ทางช้างเผือกเป็นวัตถุท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อมองจากโลก มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นแถบสว่างพาดเป็นแนวยาวกลางฟ้า ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ ใจกลางทางช้างเผือก (Galactic Center) คือส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือก ประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมาย อาทิ ดาวฤกษ์ กระจุกดาว เนบิวลา เป็นต้น แนวใจกลางทางช้างเผือกอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู ปรากฏบนท้องฟ้าในตำแหน่งที่เฉียงไปทางใต้ และเนื่องจากใจกลางทางช้างเผือกอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวทางซีกฟ้าใต้ ทางตอนใต้ของไทยจึงมองเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกอยู่สูงจากขอบฟ้ามากกว่าภูมิภาคอื่น ชาวใต้จึงมีโอกาสสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ชัดเจนมาก

ช่วงเวลาที่สังเกตทางช้างเผือกได้ดีที่สุดคือ ปลายเมษายน-ต้นตุลาคม จะสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนูได้ง่าย ทางช้างเผือกบริเวณนี้จะสว่างและสวยงามกว่าบริเวณอื่นๆ และอยู่ในตำแหน่งกลางท้องฟ้าเกือบตลอดทั้งคืน หากแต่ในประเทศไทยเป็นช่วงฤดูฝน จึงมักมีอุปสรรคเรื่องเมฆและฝนตก แต่หากท้องฟ้าเปิดไม่มีเมฆฝนก็จะถือเป็นโอกาสดีที่สุดของการถ่ายภาพทางช้างเผือกในรอบปี หลังจากนั้นในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อุปสรรคเรื่องเมฆฝนจะเริ่มน้อยลง จะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้เกือบตลอดทั้งปี แต่ปัจจัยสำคัญคือสภาพท้องฟ้า หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดี ไม่มีแสงรบกวนทั้งแสงจากดวงจันทร์ แสงไฟจากเมือง ก็จะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน แต่คนในเมืองส่วนใหญ่มักไม่มีโอกาสได้ชมทางช้างเผือก เนื่องจากตัวเมืองมีแสงไฟ ฝุ่นละอองและควัน เป็นจำนวนมาก ทัศนวิสัยของฟ้าในเขตเมืองจึงไม่เอื้อต่อการสังเกตเห็นทางช้างเผือก หากต้องการสัมผัสทางช้างเผือกอาจจะต้องเดินทางต้องไปยังสถานที่ที่ห่างจากตัวเมืองอย่างน้อยประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อหลีกหนีจากมลภาวะทางแสงและฝุ่นละอองต่างๆ

สำหรับผู้ที่สนใจถ่ายภาพทางช้างเผือก ควรหาสถานที่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้เล็กน้อย เป็นพื้นที่มืดสนิทไม่มีแสงรบกวน ตั้งกล้องโดยหันหน้ากล้องไปที่ใจกลางทางช้างเผือก ช่วงเวลาตั้งแต่ 05.00 น. จนถึงรุ่งเช้า บริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนู เลือกใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ได้องศาการรับภาพที่กว้าง ปรับระยะโฟกัสของเลนส์ที่ระยะอนันต์ ใช้รูรับแสง ที่กว้างที่สุด พร้อมตั้งค่าความไวแสงตั้งแต่ 1600 ขึ้นไป ยังมีเคล็ดลับอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพทางช้างเผือกให้ได้ภาพที่สวยงาม น่าประทับใจอีกมากมาย สามารถติดตามได้ที่ www.narit.or.th ในคอลัมน์ “บทความถ่ายภาพดาราศาตร์” นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้ายงาน

ประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: pr@narit.or.th Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @NARIT_Thailand, Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 1313