วันเสาร์, 11 มกราคม 2568

(มีคลิป) กระทรวงทรัพยฯ ประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ที่เชียงใหม่ สร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงสู่การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน

Social Share

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 มุ่งสู่เป้าหมายด้านการป่าไม้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล Open Connect Balance

วันนี้ (24 ส.ค. 65) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry หรือ MMRF5 ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ ในการนี้ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังวัดเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แถลงข่าวภายหลังการประชุม ว่า การประชุม MMRF5 นั้น เป็นการประชุมที่มุ่งสู่เป้าหมายด้านการป่าไม้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล Open Connect Balance ซึ่งประเทศไทยได้นำเสนอให้เขตเศรษฐกิจพิจารณานำหลัก BCG Economy Model ไปสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบการทำงานของเอเปค และยินดีกับความสำเร็จของสมาชิกเอเปคในการร่วมกันดำเนินงานจนสามารถบรรลุตามเป้าหมายการเพิ่มไม้ของภูมิภาค โดยสามารถดำเนินการได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ สามารถเพิ่มป่าไม้ได้ถึง 174.38 ล้านไร่ หรือ 27.9 ล้านเฮกแตร์

ทั้งนี้ การประชุม MMRF5 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงบทบาทของป่าไม้ในฐานะหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อส่งเสริมโอกาสในการค้าไม้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างถูกกฎหมาย ในขณะเดียวกัน ยังเสริมสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจและประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งจะผลักดันให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ภายใต้หัวข้อหลักของการประชุม APEC’S Thailand

นอกจากนั้นแล้ว ยังได้ผลักดันให้ BCG Model เป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อสร้างมูลค่า และส่งเสริมรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน โดยมีทรัพยากรป่าไม้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างความสมดุล และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นการเพิ่มการดูดซับก๊าชเรือนกระจก ซึ่งจะสนับสนุนให้สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์