เชียงใหม่ ชี้แจงผลการดำเนินการ Kicked off ฉีดวัคซีน COVID-19 โต้ปมดราม่าโลกออนไลน์ ยันมีแผนชัดเจนจากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ คาดใช้ทั้งหมด 2.5 ล้านโด๊ส ฉีดครอบคลุมทุกคน ย้ำบุคลากรทางการแพทย์ยังเป็นกลุ่มแรกๆ รวมถึงคนกลุ่มเสี่ยงทั้งจังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 2 มีนาคม 2564 นายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ แถลงถึงการบริหารจัดการวัคซินโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ ว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้รับวัคซีนในเดือนมีนาคมจำนวน 3,500 โดส เป็นล็อตแรก ซึ่งวัคซีนจะทยอยมาในทุกเดือนโดยในเดือนเมษายนจะได้รับมาอีก 32,000 โดส เดือนพฤษภาคมจะได้รับอีก 48,000 โดส เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการของวัคซีน 3,500 โดสนั้น จำนวน 1,750 คน จะได้รับการฉีดวัคซีนในเดือนมีนาคมนี้ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้มีมติเห็นชอบที่จะจัดสรรวัคซีนตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยึดในเรื่องของวัตถุประสงค์ในการปกป้องระบบสุขภาพ เรื่องของการควบเศรษฐกิจ และลดอัตราการป่วยตาย จึงมีการบริหารจัดการโดยมองเรื่องของความเสี่ยงของบุคลากร ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยในเดือนแรกจาก 1,750 คน ที่จะได้รับ ได้จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 1,450 คน ซึ่งจะกระจายไปตามสถานบริการต่างๆ
โดยมองถึงพื้นที่เสี่ยงทั้งในเมืองและในเขตรอบๆ เมืองจะได้มากกว่าในเขตพื้นที่ที่อยู่รอบนอกซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ผ่านๆ มานั้นมักจะมีการระบาดเกิดขึ้นในเขตอำเภอเมืองและเขตอำเภอรอบๆ เพราะฉะนั้นในแต่ละโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนจะได้รับการจัดสรรวัคซีนแตกต่างกันไปตามสัดส่วนของบุคลากรและภาระหน้าที่ต่างๆ ที่แต่ละที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งวานนี้ (1 มี.ค. 64) ได้จัดสรรวัคซีนทั้งหมด ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งสิ้น จำนวน 1,450 คน ให้กับโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยฉีดต่างๆ ซึ่งโรงพยาบาลที่จะทำหน้าที่ในการฉีดจะไม่ได้มีแค่โรงพยาบาลนครพิงค์เท่านั้น จะมีทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น รพ.สันทราย รพ.จอมทอง รพ.ฝาง จะรับหน้าที่ในการฉีดให้กับบุคลากรในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนบางส่วนที่ช่วยในเรื่องของการตรวจหาเชื้อ และการดูแลรักษาคนไข้โควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมาก็จะได้รับวัคซีน แต่ละโรงพยาบาลที่ได้รับวัคซีนก็จะไปดำเนินการในเรื่องของการฉีดให้กับบุคลากรของตนเองต่อไป เพราะว่าบุคลากรไม่สามารถให้เข้าไปฉีดพร้อมกันทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งยังคงต้องทำงาน และส่วนหนึ่งต้องจัดหาคิวเพื่อเข้ามาฉีด
“สำหรับการฉีดวัคซีนวันแรก (1 มี.ค. 64) เนื่องจากการฉีดวัคซีนวันแรกนั้น ทางคณะกรรมการโดยเฉพาะทีมงานเรื่องของการบริหารจัดการกระจายวัคซีนได้คำนึงถึงการต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนและบุคลากร ดังนั้นก็จะมีการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ แล้วอีกส่วนหนึ่งก็ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐทางด้านความมั่นคง ทางด้านแรงงาน ทางด้านปกครอง ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงได้เข้าไปช่วยดูแลเรื่องของสถานประกอบการต่าง ๆ การคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างจังหวัด เช่น สนามบิน การท่าอากาศยาน เป็นต้น ซึ่งช่วยในการดำเนินการในส่วนนี้มาตลอด บุคคลกลุ่มนี้จะมีชื่ออยู่ในรายการกลุ่มที่มีความเสี่ยงและเข้าร่วมในการฉีดวัคซีน รวมถึงบุคคลสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ อสม. ก็ได้ฉีดด้วยเช่นกัน รวมทั้งอีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นไปตามนโยบายที่อยากจะสร้างความเชื่อมั่นในภาคของการท่องเที่ยวก็จะมีอีกส่วนหนึ่ง แต่จะเป็นส่วนที่ไม่มากนัก จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดสรรบุคลากรในส่วนนี้ที่เป็นบุคลากรจริง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องจำนวน 300 กว่ารายในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งผลการฉีดวัคซีนดำเนินการไปได้จำนวน 140 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 73 คน ส่วนอีก 67 คนจะกระจายไปตามหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ส่วนหน่วยงานการปกครอง ทหาร ตำรวจ อสม. ผู้นำทางภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าว
ด้าน นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ มีการนำเสนอประเด็นต่างๆ ในคณะกรรมการฯ ก็มีการพิจารณาร่วมกัน ซึ่งการบริหารจัดการวัคซีนกับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มได้มีการบริหารจัดการตามแนวทางสาธารณสุข และของรัฐบาล ซึ่งก็ได้ให้อำนาจกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีการประชุมพิจารณาร่วมกัน โดยมีการบริหารจัดการเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกแบ่งเป็น 4 กลุ่ม
“กลุ่มแรก เรื่องของความเสี่ยงของบุคคล ซึ่งก็คือบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วย กลุ่มที่ 2 สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้โรค กลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ และผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี นอกเหนือจากนั้นก็เป็นกลุ่มของบุคคลทั่วไปและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน” รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว
นายวีระพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่สอง คือกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งทางคณะกรรมการโรคติดต่อก็มีความเห็นร่วมกันว่าจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.พื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่อำเภอชั้นในของจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย แม่ริม, สันกำแพง, หางดง, สารภี และสันทราย รวม 6 อำเภอ 2.กลุ่มแนวชายแดน ประกอบด้วย 5 อำเภอ คือ เชียงดาว, ฝาง, ไชยปราการ แม่อาย และเวียงแหง และที่เหลืออีกเหลือก็เป็นการบริหารจัดการอีกกลุ่มหนึ่ง
“ตั้งแต่มีการให้วัคซีนเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 64 เป็นการทดสอบและคลิกออฟการให้วัคซีนกับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จะเห็นว่า ประการแรกเป็นการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ประการที่สองทำให้เห็นว่าขั้นตอนของการให้วัคซีนกลุ่มเป้าหมายมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และมีตัวแทนของหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5, รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และที่เหลือก็เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งนับตั้งแต่วันนี้ พรุ่งนี้และต่อเนื่องไปจนหมดวัคซีนในล็อตที่ 1 ที่มีจำนวน 3,500 โด๊ส และคนหนึ่งใช้ 2 โด๊ส รวมคนที่จะได้รับวัคซีนในล็อตแรก จำนวน 1,750 คน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีน ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน ที่มีกลุ่มเป้าหมายกำหนดไว้แล้ว ซึ่งล็อตแรกวัคซีนที่ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ก็จะมีการฉีดเป็นห้วงเวลา คงยังไม่ได้ฉีดให้ทั้งหมดเพราะวัคซีนมีไม่พอ แต่เมื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ครบหมดแล้ว จากนั้นก็จะไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคคล และกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ ก็จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครบทุกคน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีประชากรทั้งหมด 1.6 ล้านกว่าคน เมื่อหักจำนวนผู้ตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีแล้ว ก็จะเหลือประมาณ 1.2 ล้านกว่าคน ก็คาดว่าจะใช้วัคซีนถึง 2.5 ล้านโด๊ส เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมของจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะใช้เวลา 180 วันในการดำเนินการ ทางรัฐบาล และจังหวัดเชียงใหม่ จะดำเนินการให้ไปไปตามกรอบแนวทางทุกประการ ขอให้สบายใจได้” นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว
เรื่องมาใหม่
- (คลิป) เชียงราย เพื่อไทยเปิดตัว ผู้สมัครชิงนายก อบจ. ทักษินส่งวีดีโอพิเศษ ขอเสียงคนเชียงรายเทคะแนนเลือกตั้ง
- (คลิป) เชียงราย อากาศหนาว นักท่องเที่ยวแห่จองห้องพักจนเต็มยาวถึงปีหน้า
- ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน รองเลขานายกฯ ยืนยัน ท่องเที่ยวปลอดภัย ไม่มีเหตุการณ์ปะทะฝั่งตรงข้ามแนวชายแดน
- แม่ฮ่องสอน แข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 72 ปีการศึกษา 2567
- ขสป.สาละวิน เคาะประตูบ้าน 10 หมู่บ้าน 40 หย่อมบ้าน ตั้งเป้าลดการเผาไหม้พื้นที่ป่า 30% ในปี 2568